เปิดแผนงานรัฐบาล ปี 2568 โอกาสไทย ทำได้จริง?
เจาะแผนงานรัฐบาล ปี 2568 โอกาสไทย ทำได้จริง?
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลง “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่โอกาสที่ทำได้จริง โดยเป็นการฉายภาพของประเทศไทยในปี 2568 ว่ารัฐบาล จะเดินหน้าเรื่องใดบ้าง
บ้านเพื่อคนไทย
โครงการบ้านเพื่อคนไทย บ้านดี ไม่ต้องดาวน์ ผ่อนน้อย อยู่ได้ 99 ปี ใกล้รถไฟฟ้า ราคาไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน
นโยบายบ้านเพื่อคนไทย เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โครงการเป็นอาคารชุดคุณภาพสูง ประกอบด้วยยูนิตพักอาศัยที่มีขนาดเริ่มต้น 30 ตารางเมตร มีสาธารณูปโภคครบครันทันสมัยเช่นสุขภัณฑ์ไฟฟ้า โครงการมาพร้อมระบบรักษาความปลอดภัย และตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพ อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า เป็นบ้านที่ไม่ต้องมีเงินดาวน์ มีอัตราการผ่อนต่อเดือนประมาณ 4,000 ใช้เวลาผ่อน 25 ปี และผู้อยู่อาศัยมีสิทธิครอบครอง 99 ปี
โครงการบ้านเพื่อคนไทย เป็นอีกโครงการที่อยู่อาศัยที่พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะบัณฑิตที่เริ่มทำงานที่แรกซึ่งยังไม่มีบ้าน เป็นการสร้างโครงการบ้านพักอาศัยแบบ Afforable Housing ที่ตอบสนองกลุ่มระดับรายได้ที่กว้างขึ้น การถือครองกรรมสิทธิตามระยะสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ไม่เน้นการครอบครองที่ดิน(Land Ownership) ซึ่งด้วยระยะเวลา 99 ปีเพียงพอต่อความรู้สึกมั่นคงในการมีที่อยู่อาศัยในช่วงชีวิตของตนเอง
นอกจากบ้านเพื่อคนไทย จะเป็นการมอบที่อยู่อาศัยให้กับบัณฑิตใหม่และคนทำงานให้มีบ้านและมีฝันต่อไปได้ การพัฒนาบ้านและการให้สิทธิตามเวลา 99 ปี ยังเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินของรัฐ เบื้องต้นเป้นการพัฒนาบนที่ดินของการรถไฟ ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเชื่อมโยงกับขนส่งสาธารณะเป็นอีกกระบวนการพัฒนาพื้นที่เมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ( Transit Oriented Development (TOD)) ในเบื้องต้นโครงการจะเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร และจะกระจายตัวออกไปในพื้นที่ศักยภาพอื่นๆ ในจังหวัดหลักที่มีความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือมีทำเลที่ใกล้กับชุมชนหรือมหาวิทยาลัยในภูมิภาค
ทลายทุน (ข้าว) ผูกขาด เพื่อชาวนาไทยทุกคน
รัฐบาลโดย ก.พาณิชย์ จับมือ ก.เกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกันปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่มีศักยภาพในการขายข้าวคุณภาพดีไปสู่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้ ดังนี้
1.ปรับกติกา ลดขั้นตอนการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการส่งออกข้าว
จากเดิม การส่งออกข้าวมีเงื่อนไขว่า ผู้ส่งออกข้าวทั่วไป หรือข้าวกระสอบใหญ่ ต้องมีสต๊อกข้าว 500 ตัน หรือประมาณ 20 ตู้คอนเทนเนอร์ ตามประกาศฯ ฉบับที่ 150 ปี 2560 เรื่อง ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวขออนุญาต ประกอบการค้าข้าวฯ โดยอำนาจของคณะกรรมการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. การค้าข้าว พ.ศ. 2489 ห้ามส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต
ปรับใหม่ ด้วยการ “ปรับลดการกำหนดสต๊อกข้าวส่งออก” โดยอาจจะแก้ไขประกาศฯดังกล่าว (โดยมีการกำหนดกลไกในการติดตามและเฝ้าระวัง)
2.ลดขั้นตอนการขออนุญาต จดทะเบียน สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ เพื่อลดต้นทุน
3.สร้าง New Products วงการข้าวไทยในตลาดโลก โดยส่งเสริมการปลูกและการตลาดเป็นระบบ (คล้าย Contract farming)
- ข้าวพื้นนุ่ม เจาะตลาดร้านอาหาร ตลาดทั่วไป โดยเป็นข้าวที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยส่งเสริม เพื่อแข่งขันกับข้าวเวียดนาม
- ข้าวเพื่อสุขภาพ เจาะตลาดเฉพาะ ( Niche Market) เช่น ข้าวอินทรีย์และข้าวน้ำตาลต่ำ ข้าวพื้นเมือง (Specialty Rice)
พักดอกเบี้ย 3 ปี ลดหนี้ถ้วนหน้า ดันเศรษฐกิจไทยโต
โดยรัฐบาลมีความต้องการให้การแก้ปัญหาหนี้เป็นวาระแห่งชาติ ริเริ่มโดยรัฐบาล โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย
ทั้งสองฝ่าย ตกลงที่จะลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู 0.23% ซึ่งเป็นเงินกว่า 39,000 ล้านต่อปี แล้วธนาคารพาณิชย์ จะสมทบให้อีก 39,000 รวมกันเป็น 78,000 ล้านบาทต่อปี เงินตรงนี้จะเอาไปจ่ายดอกเบี้ยแทนประชาชน พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ต่อจากนี้เงินทุกบาท ทุกสตางค์ จะไปใช้หนี้เงินต้นแบบเต็มๆ ลดหนี้ทั่วหน้า
“ต่อจากนี้เงินทุกบาท ทุกสตางค์ จะไปใช้หนี้เงินต้นแบบเต็มๆ ลดหนี้ทั่วหน้า และ ภายใน 2 ปีที่เหลือของรัฐบาลนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า ประชาชนจะต้องมาสมัครเข้ากระบวนการก่อน โดยจะเริ่มต้นภายในต้นปี 2568
พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะมีกระบวนการประนอมหนี้แบบพิเศษ สำหรับประชาชนที่มีหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งมีปัญหาติดขัด ทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ การเคลียร์หนี้ส่วนนี้ จะทำให้หลายคนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้ตั้งหลักเริ่มฝันอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความเข้าใจ Moral Hazard การเข้าโครงการต่างๆนี้ มีเงื่อนไขสำหรับคนที่ทำถูกต้องตามกฏหมาย และเฉพาะผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs ) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นหนึ่งในมาตรการเรือธงของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดำเนินการ
1 . มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ย โดยเน้นการตัดต้นเงิน
ครอบคลุม 3 กลุ่มลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ
1.1 ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน/หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระเป็นหลักประกัน (Home for cash) วงเงินที่กู้มาต่อสถาบันการเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
1.2 ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ (Car for cash) วงเงินที่กู้มาต่อสถาบันการเงินรวมไม่เกิน 800,000 บาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์/Car for cash วงเงินที่กู้มาต่อสถาบันการเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท
1.3 ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจสำหรับ SMEs ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินที่กู้มาต่อสถาบันการเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
(สินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ ต้องเป็นสัญญาสินเชื่อที่ทำก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567)
สถานะลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ คือ
1.เป็นหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยรวมกันเกิน 30 วัน – 365 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระ หรือ
2.เป็นหนี้ที่ไม่มีการค้างชำระ หรือค้างชำระ เป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระ
3.เคยมีประวัติค้างชำระ รวมกันเกินกว่า 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตั้งแต่ 1 มกราคม 2565
สถาบันการเงินที่ร่วมมาตรการ
1.ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจ
2.สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ออมสิน ,ธ.ก.ส., ธอส. , ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย , EXIM Bank , SME Bank
รูปแบบความช่วยเหลือ
- “ลดการผ่อนชำระ 3 ปี ”
ปีที่ 1 ชำระค่างวด 50% ของค่างวดเดิม
ปีที่ 2 ชำระค่างวด 70% ของค่างวดเดิม
ปีที่ 3 ชำระค่างวด 90% ของค่างวดเดิม
ค่างวดที่ชำระ จะนำไปจ่ายเงินต้นทั้งจำนวน เพื่อปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
(ลูกหนี้สามารถจ่ายค่างวดมากกว่า % ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้)
เงื่อนไข
1.ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ จะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ใน 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ
2.ถ้าลูกหนี้ SMEs มีความจำเป็นต้องกู้เป็นสภาพคล่องเพิ่มเติม ให้สถาบันการเงินพิจารณาตามความสามารถของลูกหนี้
3.ลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการทางศาลแล้ว สามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ หากคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด
4.หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข สถาบันการเงินจะเรียกเก็บดอกเบี้ยที่พักไว้กับลูกหนี้ตามเงื่อนไขเดิม 50% (เฉพาะส่วนที่สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้)
2.มาตรการลดภาระหนี้ ให้กับลูกหนี้ NPL ที่มียอดไม่สูง
คุณสมบัติลูกหนี้ : ลูกหนี้ NPL บุคคลธรรมดาทุกประเภทสินเชื่อที่มีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท
สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการ : ธนาคารพาณิชย์ และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง (ออมสิน, ธ.ก.ส. , ธอส. , ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย , EXIM Bank , SME Bank)
รูปแบบความช่วยเหลือ : สถาบันการเงินติดต่อลูกหนี้เพื่อให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้ต้องจ่ายชำระ “บางส่วน” ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อ “ชำระหนี้ปิดบัญชี
ODOS หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน จะกลับมาอีกครั้ง
รัฐบาลจะให้ทุนการศึกษากับเด็กนักเรียนที่เรียนดี เรียนเก่ง ไปเรียนต่างประเทศ โดยกระจายทุนไปทุกอำเภอทั่วประเทศไทย เพื่อให้เด็กทุกคนได้โอกาสอย่างเท่าเทียม ให้ทุกอำเภอได้มีทรัพยากรที่มีคุณภาพ โดยใช้เงินจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นทุนในการพัฒนาโอกาสการศึกษาของเยาวชนไทย
- ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี
มอบทุนการศึกษานักเรียนที่มีผลการเรียนดี ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่เคยดำเนินมาแล้วในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยมี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี - ทุนการศึกษาภาคฤดูร้อน
มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเปิดโลกกว้าง ฝึกภาษา และได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ในการร่วมภาคเรียนฤดูร้อน - หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน
พัฒนาโรงเรียนประจำอำเภอ เป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยเพิ่มบุคลากรทางการศึกษา เติมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องมือในการสอนสองภาษา (Bilingual) สอน AI Prompt, Coding และ Programing
ทั้งหมดนี้ จะเริ่มให้ดำเนินการลงทะเบียนในปี 68 นี้ จากนี้ไป เยาวชนไทยไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา มีโอกาสที่จะได้ทำตามความฝัน
รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย
โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 คนไทยจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทุกสายในราคา ‘20 บาทตลอดสาย’
หนึ่งในโครงการที่ประชาชนรอคอย คือ ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ เพราะรัฐบาลรับรู้ถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สูงลิ่ว ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และในวันนี้ที่เมืองต้องถูกขยาย มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกไปอาศัยนอกเมือง จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อเดินทางเข้ามาทำงานยังใจกลางเมือง ประชาชนไม่ควรต้องเสียค่าเดินทางแพงเกินไป
โดยมติ ครม. ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมร่วมกันศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ส่งผลให้ กระทรวงคมนาคมได้ยกร่างหลักการ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เสร็จและคณะรัฐมนตรีเห็นขอบหลักการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567
นั่นหมายความว่า นับจากวันนี้ไม่เกินสิ้นปี 2567 ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และน่าจะได้รับความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2568 และบังคับใช้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 นี้
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกประกาศครั้งแรกในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 28 เมษายน 2566 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าพี่น้องในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเดินทางจะถูกลงและสะดวกสบายขึ้นด้วยรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
Digital Wallet
“ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งได้รับผลจากดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 คนไทยกว่า 14 ล้านคน ที่ได้รับเงินสด จะเกิดการกระตุ้นให้ GDP ไทยในไตรมาส 4 โตเกิน 3% แน่นอนค่ะ” นายกฯ แพทองธาร กล่าว
ในปี 2568 จะดำเนินการต่อเพื่อเติมเงินเข้ากระเป๋าคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฟส 2 จะมอบให้กับผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านราย ไม่เกินช่วงตรุษจีน โดยได้รับเป็นเงินสด
ส่วนเฟส 3 สำหรับบุคคลทั่วไป จะมอบเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อจะให้เป็นเครื่องมือสำคัญเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และจะกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีที่ระบบเสร็จ กำหนดอยู่ภายในปี 2568 การซื้อขาย ชำระเงินกับรัฐ หรือร้านค้าทั่วไป จะใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเครื่องมือ