“พริษฐ์” แถลงคืบหน้าร่างกฎหมายจาก ก้าวไกล สู่ ปชน.
“พริษฐ์” แถลงความคืบหน้าร่างกฎหมายจาก กก. สู่ ปชน. ยกสถิติชี้หลายร่างผ่านสภาแม้เสนอจากฝ่ายค้าน
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แถลงข่าวความคืบหน้าการทำงานในสภาและการผลักดันกฎหมายโดยพรรคประชาชน โดยระบุว่าจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ที่มีการประชุมรวมไปทั้งหมด 3 จาก 8 สมัยประชุม จะเห็นว่าในสมัยแรกไม่มีการพิจาณากฎหมายสักฉบับ สมัยที่สองมีการพิจารณา 14 ฉบับโดยมี 3 ฉบับผ่านมาได้ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นต้น ส่วนปีที่สองของสมัยที่หนึ่ง มีกฎหมายที่สภาเห็นชอบผ่านทั้ง 3 วาระ 11 ฉบับ เช่น ชุดกฎหมายเกี่ยวกับอุดมศึกษา กฎหมายไม่ตีเด็ก และกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับชายแดนใต้ เป็นต้น
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่พรรคประชาชนในสภาได้พยายามทำที่ผ่านมาคือการวางบทบาทใหม่ของฝ่ายค้าน ทั้งบทบาทฝ่ายค้านเชิงรับและฝ่ายค้านเชิงรุก ในส่วนของบทบาทฝ่ายค้านเชิงรับที่ประชาชนคาดหวังให้ฝ่ายค้านทำอยู่แล้วในการตรวจสอบรัฐบาล จากพรรคก้าวไกลสู่พรรคประชาชน เรายังคงทำงานอย่างเต็มที่เหมือนในสภาชุดที่ 25 ไม่มีการอ่อนข้อ มีความเข้มข้นเท่าเดิม ทั้งการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 การอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี กระทู้สดทุกสัปดาห์ กลไกกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ เป็นต้น
ส่วนบทบาทในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก พรรคประชาชนพยายามวางบทบาทในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำแต่เราเห็นว่าควรจะทำ กลไกที่สำคัญและทำให้ข้อเสนอมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือการยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย เป็นการฉายภาพพิมพ์เขียวประเทศไทยในแบบของพรรคประชาชน ซึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามว่าการที่พรรคประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายค้านเสนอกฎหมายไปจะได้อะไร พรรคประชาชนเห็นว่าการเสนอกฎหมายของพรคมี 3 วัตถุประสงค์ คือ
1) legislative change การแก้กฎหมายให้สำเร็จจริงๆ ร่างกฎหมายหลายร่างที่พรรคประชาชนเสนอไปนั้นสอดคล้องกับ 300 นโยบายที่นำเสนอประชาชนไปเมื่อตอนเลือกตั้ง ถ้าประสบความสำเร็จในการผลักดันก็เหมือนการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล
2) Agenda setting การกำหนดวาระของรัฐบาล การที่พรรคประชาชนได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าไปทำให้รัฐบาลต้องมาคุยและขบคิดหาทางออกในประเด็นที่มีความสำคัญ พิจารณาว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างไร และแม้รัฐบาลจะไม่ได้มีข้อเสนอที่ตรงกับพรรคประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลยื่นร่างกฎหมายเข้ามาประกบและแก้ไขปัญหาได้บางส่วน ก็เป็นความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
3) Winning hearts and minds การทำงานเชิงความคิดกับสังคม แม้ร่างกฎหมายที่เสนอไปไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาชุดนี้ แต่การใช้พื้นที่สภาเพื่ออธิบายกับสังคมว่าทำไมการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่พรรคประชาชนพยายามนำเสนอมากขึ้น
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าหากมองย้อนไปในสถิติ 3 สมัยประชุมหรือ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายรวม 84 ฉบับ โดยมี A) 25 ฉบับที่ถึงห้องประชุมสภาและมีการลงมติ (อย่างน้อยในวาระที่ 1) แล้ว และ B) 59 ฉบับที่สภาฯยังไม่เคยมีการลงมติทางใดทางหนึ่ง โดยทั้งหมดยังแบ่งออกได้เป็น
A1) ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบทั้ง 3 วาระแล้ว 5 ร่าง เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 มีการเสนอหลายร่างจากหลายแหล่งที่มา เนื้อหาไม่มีความแตกต่างกันมาก ทำให้ร่างที่ผ่านสภามาได้มีความใกล้เคียงกับร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอไป, กฎหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งเป็นการเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านและผ่านความเห็นชอบของสภามาได้โดยไม่มีกฎหมายจากคณะรัฐมนตรีหรือพรรครัฐบาลมาประกบ
A2) ร่างกฎหมายที่สภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ 11 ร่าง โดยมีหลายกรณีที่สภารับหลักการหลายร่างพร้อมกันในวาระที่ 1 โดยแต่ละร่างอาจมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันบ้างที่พรรคประชาชนต้องพยายามผลักดันต่อในชั้นของคณะกรรมาธิการ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่สภารับหลักการรวมกัน 7 ฉบับ, พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่มีการรับหลักการไปทั้งหมด 3 ฉบับ เป็นต้น
A3) ร่างกฎหมายที่สภาลงมติไม่รับหลักการเป็นผลให้ตกไป 9 ร่าง แต่มีหลายร่างที่พรรคประชาชนยังเห็นว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความสนใจของรัฐบาลหรือสังคม เช่น สุราก้าวหน้า ที่สภาลงมติไม่เห็นชอบร่างของพรรคประชาชนในวาระที่ 1 แต่อย่างน้อยทำให้มีร่างประกบจากพรรครัฐบาลสองฉบับที่ผ่านความเห็นชอบวาระ 1 ไปได้ หรือ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกที่เสนอกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการกำหนดเส้นทางรถเมล์-อัตราค่าโดยสาร ซึ่งแม้ไม่ผ่านสภาแต่ก็สร้างความตื่นตัวในสังคมระดับหนึ่ง ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเรื่องขนส่งสาธารณะมากขึ้น
B1) ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างเข้าคิวในระเบียบวาระการประชุม 41 ฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีการดึงไปศึกษา 60 วัน และส่งกลับมาที่สภาฯ (เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม, พ.ร.บ.ล้มละลาย) และร่างที่จ่อคิวและคาดว่าจะถูกพิจารณาไม่นานหลังสภาฯกลับมาเปิดสมัยประชุม (เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.นิรโทษกรรม)
B2) ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงิน ถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรีแล้วแต่ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะรับรองหรือไม่ 11 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชนหวังว่าก่อนเปิดสมัยประชุมสภากลับมานายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจได้ว่าจะรับรองร่างดังกล่าวหรือไม่
B3) ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงินที่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ตัดสินใจไม่รับรองและตกไปแล้ว 7 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ, พ.ร.บ.ถนน, พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งพรรคประชาชนกำลังพิจารณาว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะลองยื่นร่างเหล่านี้สู่การพิจารณาอีกครั้งหรือไม่
โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมด ทั้งสถานะของร่างกฎหมายที่พรรคประชาชนมีการเสนอเข้าไป รวมถึงสรุปเนื้อหาสาระสำคัฐของร่างต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ promise.pplethai.orrg
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าข้อสังเกตสำคัญคือแม้หลายคนมักเชื่อว่าพรรคประชาชนเสนอกฎหมายอะไรไปก็ตกอยู่ดี แต่จากสถิติแล้วร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่สภาลงมติเห็นชอบมีถึง 16 ร่าง ขณะที่มี 9 ร่างที่สภาไม่เห็นชอบ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากฎหมายที่พรรคประชาชนเสนอเข้าไปไม่แน่เสมอไปว่าจะถูกปัดตก และการเสนอกฎหมายของพรรคประชาชนยังมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแม้วันนี้พรรคประชาชนจะเป็นแค่ฝ่ายค้านก็ตาม
โดยในช่วงปิดสมัยประชุม 6 สัปดาห์นี้ พรรคประชาชนจะใช้เวลาในการรณรงค์ผลักดันกฎหมาย 7 ชุดสำคัญที่กำลังจะมีการพิจารณาในอนาคต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น
“2 เปิด” คือ
- เปิดโอกาสแข่งขันทางการค้า ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่จะปรับอำนาจ-ที่มาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดและการกีดกันการแข่งขัน
- เปิดโปงการทุจริต ผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลรัฐและการคุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริต
“2 ปลดล็อก” คือ
- ปลดล็อกที่ดิน ผ่านการนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินทำกินอันสืบเนื่องจากการประกาศพื้นที่ของรัฐทับที่ที่ประชาชนอาศัยทำกิน รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
- ปลดล็อกการท่องเที่ยว ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรมและ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทั้งการอำนวยความสะดวกให้โรงแรมและที่พักหลากหลายประเภทสามารถขอใบอนุญาตได้สะดวกมากขึ้น และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการออกใบอนุญาตโรงแรมและที่พัก
“2 ปฏิรูป” คือ
- ปฏิรูปกองทัพ ผ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร กฎหมายแก้ไขขอบเขตอำนาจศาลทหาร และการแก้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้มีความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น
- ปฏิรูปการศึกษา ผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่พยายามคุ้มครองสิทธิของผู้เรียนในการเข้าถึงสิทธิในการเรียนฟรีอย่างน้อย 15 ปี รวมถึงสวัสดิการด้านการศึกษาต่างๆ และการปรับโครงสร้างการบริหารด้านการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้โรงเรียนและผู้จัดการศึกษามากขึ้น
“1 ปกป้อง” คือ
- ปกป้องสิ่งแวดล้อม ผ่าน พ.ร.บ. โลกรวน ที่เอาจริงมากขึ้นในการกำหนดและปรับลดกรอบเพดานก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรมในทุกๆปี พ.ร.บ.ขยะ ที่กำหนดมาตรฐานกลางในการจัดการขยะครบวงจร
พ.ร.บ. PRTR ที่กำหนดให้ผู้ที่ครอบครอง-ปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
.
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าการผลักดันกฎหมายของพรรคประชาชนถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงานในสภาในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก ที่ไม่เพียงแค่จะตรวจสอบรัฐบาล แต่จะเดินหน้าในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลผ่านร่างแก้ไขกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แน่นอนว่าในเชิงคณิตศาสตร์เสียงของ สส.พรรคประชาชนอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภาไปได้ แต่ด้วยหลักเดียวกัน ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรครัฐบาลทุกพรรค – เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลอาจมีจุดยืนเชิงนโยบายในหลายประเด็นที่ต่างกัน หากร่างกฎหมายของพรรคประชาชนเพียงได้รับความเห็นชอบจากบางพรรคในประเด็นที่พรรคดังกล่าวเห็นตรงกับพรรคประชาชน ก็จะสามารถทำให้ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่านสภาไปได้
“หากเรามีความมั่นใจว่ากฎหมายที่เรานำเสนอและจุดยืนที่สะท้อนผ่านกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นจุดยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้ ภารกิจของเราไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืน แต่คือการเปลี่ยนใจคนทั้งในและนอกสภา ยิ่งเราอธิบายและทำงานเชิงความคิดให้สังคมเห็นตรงกับเราได้มากขึ้นเท่าไหร่ เสียงของประชาชนที่ดังเข้ามาในสภา ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสได้การสนับสนุนจากสมาชิกในสภามากขึ้นตามมา” พริษฐ์ กล่าว