“ทักษิณ” ปะทะ “ประวิตร” เปิดสมรภูมิรบ เต็มรูปแบบ
เปิดนิติสงคราม “ทักษิณ” ปะทะ “ประวิตร” เปิดสมรภูมิรบ เต็มรูปแบบ
ทันทีที่พรรคเพื่อไทย เขี่ย พรรคพลังประชารัฐ พ้นจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นเหมือนสัญญาณการประกาศรบระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อย่างเป็นทางการ
ทักษิณเคยเล่าจุดแตกหัก ระหว่างเขากับพลเอกประวิตรว่า เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่พลเอกประวิตร กำลังจะเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จึงมาขอทักษิณ ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าอยากจะไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะเห็นว่า บิ๊กป้อม เป็นทหารไม่เหมาะที่จะนั่งเป็นประธานองค์กรอิสระ
โดย ทักษิณ บอกว่า หลังจากนั้นก็ไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร อีกเลย
ว่ากันด้วยระหว่างทักษิณ และ พลเอกประวิตร มีเรื่องบาดหมางกันมาช้านาน
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุญญารัตน์กลิน หรือ บิ๊กบัง มีการตั้งข้อสังเกตว่าการรัฐประหารครั้งนั้น อาจมีบิ๊กป้อม อยู่เบื้องหลังด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่า บิ๊กป้อมกับบิ๊กบังนั้น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารกัน
และนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 เส้นทางของทักษิณ และบิ๊กป้อม ก็เดินคู่ขนานกันมาตลอด
โดยบิ๊กป้อม เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มตัวในสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้น พลเอกประวิตร รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ขณะที่เส้นทางของทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องจากบ้านเกิดไปอยู่ต่างแดน พรรคไทยรักไทย ที่เคยสร้างมากับมือถูกยุบ ไม่นานนัก พรรคพลังประชาชน ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพรรคไทยรักไทย ก็มาถูกยุบอีก
จะเห็นว่า ระหว่างที่เส้นทางของบิ๊กป้อม กำลังรุ่งโรจน์ในถนนการเมือง ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ทักษิณ ชินวัตร กำลังเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ บิ๊กป้อม กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล พลเอกประวิตร ก็รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นั่นเป็นช่วงเวลาที่บิ๊กป้อมและพี่น้อง 3 ป เรืองอำนาจที่สุดเท่าที่เคยมี โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.มีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ในการจัดการเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง ความสงบเรียบร้อย รวมไปถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ฯลฯ
ในยุค คสช. นี้เอง ที่ทักษิณ ชินวัตร ถูกถอดยศจากพลตำรวจโท เหลือแค่ นายทักษิณ ชินวัตร
และไม่นานนัก ครอบครัวชินวัตร ต้องประสบวิบากกรรมทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ต้องหนีออกนอกประเทศ ลี้ภัยทางการเมืองตามพี่ชายไปอีกคน
จึงไม่แปลกที่เมื่อแพทองธาร ชินวัตร รับหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงได้ประกาศที่จะปิดสวิตช์สาม 3 ป แต่เมื่อผลการเลือกตั้งปี 2566 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องตระบัดสัตย์ จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม จุดแตกหักล่าสุดมาจากที่พรรคเพื่อไทย มองว่าพลเอกประวิตร อยู่เบื้องหลังการสอยเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากนายกรัฐมนตรี
โดยมองว่า แม้พลังประชารัฐ จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่หัวหน้าพรรคอย่างบิ๊กป้อม ยังมีความอยากที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงใช้ทุกองคาพยพ เพื่อเปิดทางให้ตัวเองได้ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศมาครอง
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการตั้งรัฐบาลแพทองธาร จึงไม่มีพรรคพลังประชารัฐในขั้วของ บิ๊กป้อม รวมอยู่ด้วย
กระนั้น การเขี่ยพรรคพลังประชารัฐ พ้นจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นความเสี่ยงของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแพทองธาร
เพราะอย่าลืมว่า พล.อ.ประวิตร ยังมีองค์กรอิสระ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม อย่างที่ได้มีการกำจัดเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเขี่ยพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีนักร้องออกมายื่นยุบพรรคเพื่อไทยกันไม่เว้นแต่ละวัน
เป็นการรบด้วยนิติสงคราม ซึ่งเป็นสงครามรอบใหม่ ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ