เปิดรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม 2567 ล้างผิดคนกลุ่มใดบ้าง
เปิดรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม 2567 ครอบคลุมความผิด ของคนกลุ่มใดบ้าง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏผลดังนี้
ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม
กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านมาจะมีองค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่เหมือนกันคือ การกำหนดช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญ คือ
๑) การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๑
๒) การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก. และ นปช.) พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓
๓) การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗
และ ๔) การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบัน
มาเป็นหลักในการพิจารณา โดยพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากนั้นได้มีมติกำหนดช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน
โดยที่“ปัจจุบัน” หมายถึง วันที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของ
ช่วงเวลา ซึ่งอาจทำให้มีบุคคลใช้ช่องว่างของช่วงเวลาดังกล่าวกระทำหรือแสดงความคิดเห็นที่อาจ เป็นความผิดก่อนวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับโดยหวังให้ได้รับการนิรโทษกรรม
คดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม
แนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่า มีความเหมาะสมในการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา คือ การนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งมีกลไกในการขับเคลื่อนสำคัญ คือ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี ยังมีองค์ประกอบสำคัญซึ่งเป็นฐานในการพิจารณาของหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการนิรโทษกรรม คือ ฐานความผิดในบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งจะเป็นส่วนคัดกรองในเบื้องต้นว่า ฐานความผิดใดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อเป็นหลักให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการนิรโทษกรรมดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ สามารถนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองได้อย่างครบถ้วน โดยไม่ได้นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จำแนกคดีและฐานความผิดออกเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าควรกำหนดฐานความผิดใดเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวอันจะส่งผลต่อไปในการพิจารณาว่า การกระทำใดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ควรได้รับการ
นิรโทษกรรม
คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว
๑) คดีหลักและคดีรอง
ในส่วนนี้ผู้พิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่คือ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม โดยพิจารณาวินิจฉัยจากองค์ประกอบว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และเป็นฐานความผิดตามบัญชีฐานความผิดท้ายร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ หากเข้าองค์ประกอบ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมสามารถพิจารณาวินิจฉัยการนิรโทษกรรมแล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมเสนอต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อพิจารณาหากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
๒) คดีที่มีความอ่อนไหว
ในส่วนนี้ผู้พิจารณาวินิจฉัยคือคณะกรรมการนิรโทษกรรม โดยคดีที่มีความอ่อนไหว อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา ๑๑๐ (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา ๑๑๒ (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ)
รูปแบบ/กระบวนการนิรโทษกรรม
ในการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เริ่มศึกษาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นได้กำหนดช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมากมีฐานความผิดที่หลากหลาย ดังนั้นการจะออกกฎหมายเพื่อจะนิรโทษกรรมเป็นช่วงเวลาตามที่เคยปฏิบัติจึงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากจะทำให้ผู้กระทำผิดโดยไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมากได้รับประโยชน์โดยไม่สมควร หรือในคดีที่มีจำเลยมากกว่าหนึ่งคน อาจมีผู้กระทำผิดที่ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองร่วมด้วยเพื่อให้การนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่การกระทำเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองอย่างแท้จริง
คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้พิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับ กลไกการนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมโดยไม่ใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม และการนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสานโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาถึงข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัดในทางปฏิบัติ แล้วเห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสมในการนิรโทษกรรมคือ “การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน” โดยการนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสานจะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมโดยใช้กลไก ๓ ส่วน คือ
๑) กลไกที่ให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรม แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
๒) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย และประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น ให้หน่วยงานราชการที่รับคำร้องมีอำนาจรับคำร้องและพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
๓) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธ ไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม ทั้งนี้ ในชั้นพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากคณะกรรมการนิรโทษกรรมรับเรื่องไว้พิจารณากลั่นกรองแล้ว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีคดีที่เข้าข่ายตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้หยุดการดำเนินคดีหรือการพิจารณาในคดีนั้นไว้ก่อน และศาลอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว