เปิดคำแถลงนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” 10 เรื่องเร่งด่วน คนไทยมีเงิน มีใช้
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.67
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.67 โดยมีเนื้อหาทั้งหมด 75 หน้า ประกอบด้วย ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว และภาคผนวก ซึ่งเฉพาะในส่วนของคำแถลงนโยบายฯ มีเนื้อหา 14 หน้า ดังนี้
ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิ (Empowerment) เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหา ที่รุมเร้าและทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ประเทศไทยมีพื้นฐานศักยภาพที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้ายังต้องเผชิญ ความท้าทายอีกหลายประการ ได้แก่
ความท้าทายของประเทศไทย
ประการแรก ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ กับรายจ่าย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า ๑๖ ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ ๙๐ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ ระหว่างคนจนและคนรวย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน
ประการที่สอง สังคมและเศรษฐกิจเราถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่า ระดับการพัฒนาประเทศและเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยในปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) นั่นคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก ๑๐ ปี จะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) ในขณะที่มีอัตราการเกิดลดลง คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ ๖๔.๗ คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ ๒๐ ปีทุกทักษะ นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า ๑ ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยทุกช่วงวัย กำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสมรุนแรงขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกว่า ๑๐ ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก กล่าวโดยสรุปคือ คุณภาพของคนไทยในวัยทำงานลดลงมาก ในขณะที่การเข้าสู่ สังคมสูงวัยและภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการที่สาม ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาด ของยาเสพติดที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โดยในช่วงไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๗ พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๙ เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันในปี ๒๕๖๖ และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นถึง ๑.๙ ล้านคน นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความ กว่า ๕ แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า ๖ หมื่นล้านบาท
ประการที่สี่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรองรับแรงงาน กว่าร้อยละ ๓๒-๓๕ ของแรงงานทั้งหมด และมีมูลค่าประมาณร้อยละ ๓๕ ของ GDP กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นร้อยละ ๗.๖ ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถ ในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ประการที่ห้า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึง การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทานและแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ของโลก ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดตัวลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการใช้ กำลังการผลิตที่ลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ ๖๐
ประการที่หก จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ในปี ๒๕๖๗ ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ ในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า ๑๐ ล้านคน ในปี ๒๕๖๖
ประการที่เจ็ด ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาล ออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประการที่แปด ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการ ของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้าง ของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงาน ส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมิน และตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพ ไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย
และประการสุดท้าย ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism) การใช้กฎระเบียบโลกสร้างอุปสรรคทางอ้อม ในการแข่งขัน ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ในการดำเนิน นโยบายภาครัฐและปรับท่าทีของประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ
10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้อง เร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทย กลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันทีดังนี้
นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดกาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญา ที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEsจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคอง ให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนา ระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว”ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ ๕๐ ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้ง จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้น ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ
นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้ พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคง ทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้ำเกษตรและราคาพืชผล การเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จ ในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง ๑.๘๙๒ ล้านล้านบาท ในปี ๒๕๖๖ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจาย ลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาที่กระทบต่อสังคมและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลอีกสองประเด็นปัญหา คือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและอาชญากรรมออนไลน์
นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแล ช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม
นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงทีโดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์
นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
แผนพัฒนาประเทศระยะกลางและระยะยาว
เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของความต้องการของผู้บริโภคด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อเร่งให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว และพัฒนาบทบาทให้เป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก โดยดำเนินการ ดังนี้
- การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดย
1.1 รัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs PHEVs BEVs และ FCEVs) โดยเร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ในขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กับส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะและการปรับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
1.2 รัฐบาลจะส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์(Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ จะสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งอาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าโครงการ OTOP ทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งจะสนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ
- ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดย
2.1 รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปีสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.2 รัฐบาลจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)จากความเข้มแข็งเดิมในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสก์ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิต Semiconductor ในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ รัฐบาลนี้จะวางรากฐานให้คนไทยทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างสรรค์นวัตกรรม นำประเทศสู่ความล้ำสมัย โดยไม่ละเลยจุดสมดุลของความเป็นเจ้าของอธิปไตยข้อมูลและการเปิดกว้างของโอกาสสำหรับการพัฒนา
2.3 รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยอาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย พร้อมกับส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรมรวมถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคมโดยการตรากฎหมาย ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มายกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค
2.4 รัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) โดยรัฐบาลจะผลักดันการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจนักลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
- รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดย
3.1 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถออกขายสู่ตลาดโลกได้จริง สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากหิ้งสู่ห้าง และเปิดการร่วมมือกับภาคเอกชนเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดซื้อโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของภาครัฐมาสนับสนุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย
3.2 รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ
(Cold Chain) สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ เช่น สนามบินล้านนาสนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway)รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุนโดยเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub)
3.3 รัฐบาลจะเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ครอบคลุมและเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าสนับสนุนให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3.4 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำกับดูแลให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุม เพียงพอ
และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลกลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.5 รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด
3.6 รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เร่งจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น
พัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย
รัฐบาลเชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สาคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ โดย
- รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภำพของเด็กทุกคนอย่างเท่ำเทียม เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยำศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาพร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคตและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) - รัฐบำลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภำพของคนไทยเพื่อสร้ำงงำนสร้ำงรำยได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สานักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์(THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าเสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น เช่น ทักษะด้านการประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- รัฐบาลจะยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่ำเดิม รัฐบาลนี้จะต่อยอด จากรัฐบาลที่แล้วในการยกระดับระบบสาธรณสุขไทย จาก “30 บาทรักษาทุกโรค”จากพื้นฐานความสาเร็จหลายสิบปีของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็น “30 บาทรักษาทุกที่” ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุข และการขยายเครือข่ายการบริการระดับปฐมภูมิ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย และสามารถรองรับความต้องการใหม่ ๆ
จากสถานการณ์สังคมสูงวัย รัฐบาลจะสานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และใช้ศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อพร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการรักษำและบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยเน้นการป้องกัน(Prevention) ให้ความรู้และการสร้างความตระหนัก - รัฐบาลจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงสิทธิที่พึงมี ทั้งการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการ โดยเริ่มต้นจากสวัสดิการข้าราชการ รัฐบาลจะต่อยอดความสาเร็จของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้และในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย จะส่งเสริมความเท่าเทียม
ของชายและหญิงทั้งในระดับครอบครัวและในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนในประเทศไทยไม่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ อยู่ในสังคมที่สามารถเป็นทั้งแม่และ เจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย
นโยบายสร้างความยั่งยืน
ในการบริหารประเทศในยุคนี้ จะไม่สามารถมองผ่านความท้าทายและโอกาสของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปได้ รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้
- รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น เพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลจะสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM2.5 และการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดการกับปัญหาการลักลอบกำจัดหรือฝังกลบกากอุตสาหกรรม/ของเสียอันตรายด้วยความเข้มงวด และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ
- รัฐบาลจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ จะจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ และจะเร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ ควบคู่กับการขยายเขตชลประทานพร้อมทั้งเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบำลจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
- รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย
พัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งแบ่งขั้วอุดมการณ์ที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชำติ ด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส ดังนี้
- รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย
ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน - รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส(Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศให้เป็นทุนทางสังคมและทางความคิดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ
- รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภำพ เปลี่ยนผ่านราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล (Digital Government) ปรับขนาดให้มีความคล่องตัวเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ปรับขนาดและกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพโปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิดตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น และการดูแลชุมชน
- รัฐบาลจะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมำกยิ่งขึ้น ปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน ( Enable)การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น(Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์
รัฐบาลจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนำจไปสู่ยุทธศำสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและเกื้อกูลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ดังนี้
- รัฐบาลจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Non-Conflict) และจะดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานสากล โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นแกนกลางสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน (Active Promoter of Peace and Common Prosperity) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการและนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย
- รัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่รัฐบาลจะสานต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
แม้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อันเป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และถูกซ้าเติมด้วยโควิด-19 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไร้ซึ่งมาตรการทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศใกล้เต็มเพดานที่ร้อยละ 70 ของ GDP ในปี 2570 จึงเป็นความท้าทายอันยิ่งยวดที่รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว โดยการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ การยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการเร่งบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุดซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบภาษี และจะกลับกลายเป็นศักยภาพทางนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสาหรับการเป็นแกนหลักในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและดำเนินนโยบายการคลังโดยบริหารค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญได้แก่ การเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณให้สามารถกระจายเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว การพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงินภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด
ท้ายที่สุด รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และ ประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต