นายกฯ ชงสภาฯ ขอเพิ่มงบกลางปี 1.2 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล
เริ่มแล้ว นายกฯ ชงสภาฯ ขอเพิ่มงบกลางปี 1.2 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล
วันที่ 17 ก.ค.67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่า หลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 122,000,000,000 บาท รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนโดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000,000,000 บาท
สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
- ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท)
- เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท)
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีรายได้รัฐบาลจำนวน 10,000 ล้านบาท และขาดดุลงบประมาณจำนวน 112,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 24,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณและรายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของวงเงินงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนก
ตามกลุ่มงบประมาณและจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกเป็นกลุ่มงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงินรวมทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของวงเงินงบประมาณ และได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกำหนดไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
นายกรัฐมสตรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท โดยเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณ รวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย