“นายกฯ” มอบนโยบาย ปราบยาเสพติด 90 วัน ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม
นายกฯ มอบนโยบายเร่งปราบปรามยาเสพติด ให้เห็นผลรูปธรรมภายใน 90 วัน ใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” ผู้เสพ ผู้ค้า ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่บกพร่อง ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 2 ก.ค.67 เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนคราชสีมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ และนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมงาน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโบบายว่า รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนเองได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน บูรณาการการดำเนินงานในการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และเด็ดขาดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน โดยกำหนดเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง จำนวน 25 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน และให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็จะมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่อง ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่
นายกฯ กล่าวต่อว่า การปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะ 1 ปี เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยขอให้ใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1) ปลุก คือ การปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐ ป้องกันตั้งแต่ระดับเยาวชน ผ่านหลักสูตรในสถาบันการศึกษา 2) เปลี่ยน คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำการ X-ray ชุมชนแล้วนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฝึกอาชีพ 3) ปราบ คือ การปราบปรามนักค้ายาเสพติด สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้ายาเสพติด และใช้มาตรการ “ยึด อายัดทรัพย์สิน” เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาจากปัญหายาเสพติด ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
นายกฯ ขอให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป และขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำโครงการขจัดปัญหายาเสพติด ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และโครงการปราบปรามยาเสพติดระยะเร่งด่วน ที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด มาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา โดยทั้ง 2 โครงการเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยที่บูรณาการร่วมกัน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายหน่วยงานร่วมมือกัน ในการขจัดยาเสพติดให้สิ้นไปจากพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหา ผ่านนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเป็น CEO ในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำให้ทุกองคาพยพในพื้นที่ เกิดการขับเคลื่อนงานในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน
- ปราบปรามยาเสพติด เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ ปฏิบัติการกวาดล้างนักค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ดำเนินการปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาดและให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชนโดยเร่งด่วน โดยขอให้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป.ป.ส. กระทรวงกลาโหม
- ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด โดยกำหนดให้เป็นความสำคัญเร่งด่วนของทุกจังหวัด โดยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันค้นหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด และให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรมนำไปเข้าบำบัดรักษา และให้มีระบบในการติดตามดูแล ช่วยเหลือ เฝ้าระวังภายหลังกลับสู่ชุมชน
- ให้ทุกจังหวัด เร่งนำผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง บำบัดรักษา ส่งต่อตามกระบวนการให้แน่ใจว่าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ และที่สำคัญคือ การฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้การช่วยเหลือฝึกฝนด้านการงานอาชีพ การศึกษา โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานให้ผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วกลับมาใช้ชีวิตในสังคม มีงานทำเพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้กลับไปสู่วงจรของยาเสพติดอีก
- ให้ดำเนินการควบคุมปัจจัยเสี่ยง จัดระเบียบสังคมในพื้นที่สถานบันเทิง/สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิง และบริเวณรอบสถานศึกษา โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นแหล่งในการแพร่ระบาดยาเสพติด
- เสริมสร้าง ปลุกพลังประชาชนให้ตื่นตัว และเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างมาตรการในชุมชน และมาตรการทางสังคมให้เป็นพลังต่อต้านยาเสพติดอย่างกว้างขวาง ทั้งในบทบาทของการป้องกัน การเฝ้าระวัง การดูแล ติดตาม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา การรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงการสร้างมาตรการให้ชุมชนดูแลด้วยกันเอง และ
ปลูกฝังเยาวชนผ่านหลักสูตรการศึกษาให้เข้าใจถึงผลเสียของยาเสพติด - ขอให้ทุกจังหวัด เร่งสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้รับทราบ ถึงความตั้งใจ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล
นายกฯ กล่าวถึง การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทั้งจังหวัด ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ป.ป.ส. และหน่วยงานอื่น ๆ และต้องได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกัน เป็นหูเป็นตาช่วยกันดูแลสอดส่อง แจ้งเบาะแส เฝ้าระวัง และป้องกันลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
“ขอให้ประชาชนทุกคนที่รู้เบาะแสคนติดยาเสพติดให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ให้ช่วยกันติดตามมาช่วยบำบัด หรือปราบปรามให้หมดสิ้น” นายกฯ กล่าว