ครม.อนุมัติ ร่าง พรบ.ตั้งศาลแรงงาน-วิธีพิจารณาคดีแรงงาน
ครม.อนุมัติร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
วันที่ 25 มิ.ย.67 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาครับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. …. กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยอง 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
นายคารม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอว่า 1. เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยองมีปริมาณคดีแรงงานเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดและจำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะมีการเปิดทำการสาขาของศาลแรงงานภาค 1 (สาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และภาค 2 (สาขาจังหวัดระยอง) อยู่แล้วก็ตาม แต่การเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องเกลี่ยอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการสาขาทั้ง 2 สาขา ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเกิดความล่าช้าและไม่สะดวกแก่คู่ความในท้องที่ เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองขึ้นในจังหวัดระยอง ให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง เพื่อให้การพิจารณาแรงงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในท้องที่ได้ดียิ่งขึ้น และมีความพร้อมในด้านอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติงานในศาลจังหวัดครบถ้วนทุกส่วนงานรองรับภารกิจดังกล่าว
- ในการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง จะทำให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในท้องที่ของศาลแรงงานภาค 1 และภาค 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ตลอดจนเพื่อให้มีความชัดเจนในการแบ่งแยกเขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาล โดยไม่รวมถึงอำนาจการบริหารงานศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาค อีกทั้งศาลแรงงานเป็นศาลคดีชำนัญพิเศษที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เห็นสมควรให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาคเข้ามารับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นในเขตท้องที่ของศาลแรงงานภาคนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของศาลแรงงานจังหวัดเป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- ศย. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1. รวม 2 ฉบับ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2566 วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมอบหมายให้ ศย. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและเสนอร่างกฎหมายไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
- ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ศย. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้ 1. ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 63,901,038 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10,821,312 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน จำนวน 363,955,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 438,677,710 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 6 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา และ 2.ศาลแรงงานจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 55,383,438 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 8,215,704 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (ยังไม่สามารถจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่ จึงไม่อาจระบุค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคารศาลได้) จำนวน 11,092,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 74,691,502 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 4 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา