“พริษฐ์” ชง 3 แพ็กเกจเปลี่ยนเกม แนะ ลงทุนเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะ
“พริษฐ์” อภิปรายงบ 68 นำเสนอ 3 แพ็กเกจเปลี่ยนเกม “งบเรียนรู้ตลอดชีวิต” อัดฉีดงบให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็ก 1,000 วันแรก ระเบิดงบการศึกษาให้ถึงมือโรงเรียน-ครู-นักเรียน ลงทุนเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะโดยอุดหนุนคูปองให้คนทุกช่วงวัย
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ในวาระที่ 1 เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับทักษะให้กับประชาชน โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤตทักษะ” ตั้งแต่เกิดจนแก่ เห็นได้จากข้อมูลสถิติว่าเด็กไทย 1 ใน 4 คนยังมีพัฒนาการไม่สมวัย นักเรียนไทย 2 ใน 3 คนยังไม่สามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้งานได้จริง แรงงานไทย 3 ใน 4 คนยังขาดทักษะดิจิทัลพื้นฐาน รวมถึงผู้สูงอายุไทย 1 ใน 3 คนต้องอยู่คนเดียวหรือกับคู่รักกันเพียงลำพัง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีทักษะในการดูแลตนเองทั้งทางกายและใจที่ดีขึ้น
แน่นอนว่าหากประเมินจากเพียงคำพูด รัฐบาลก็ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับวิกฤตทักษะนี้ แต่การกระทำเสียงดังกว่าคำพูดเสมอ และการกระทำที่บ่งบอกได้ดีที่สุดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร มาก-น้อยเพียงใด คือการสังเกตดูว่ารัฐบาลลงทุนงบประมาณเท่าใด ไปกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจากการที่ตนได้สำรวจและวิเคราะห์ทั้ง 5,631 โครงการในงบประมาณปี 2568 ก็ค้นพบว่างบประมาณที่ถูกจัดสรรให้กับการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะของประชาชน จะอยู่ที่ประมาณ 510,000 ล้านบาท กระจายไปตาม 175 หน่วยรับงบประมาณและ 14 กระทรวง ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงบเด็กเล็ก งบเด็กโต งบคนทำงาน หรืองบผู้สูงอายุ จะเห็นว่าการลงทุนเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทยมี 3 ปัญหาหลักๆ ที่เหมือนกัน คือ
- เรากำลังลงทุนใน “งบเรียนรู้ ที่ไม่เน้นเรียนรู้” กล่าวคือ เป็นงบที่ใช้ไปกับโครงการที่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์ฟังดูดี แต่มีบางส่วนที่ไม่น่าจะส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ได้จริง เช่น “โครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสูงสุดในปีนี้ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ 381 ล้านบาท แต่เกือบร้อยละ 20 ของงบ (72 ล้านบาท) กลับถูกใช้ไปกับการ “พลิกโฉมอาคาร” มากกว่า “พลิกโฉมแรงงาน” ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานมูลค่า 14 ล้านบาท หรืออาคารพักอาศัยข้าราชการอีก 12 ล้านบาท
- เรากำลังลงทุนแบบ “ต่างคนต่างทำ” ทำให้โครงการของแต่ละหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน จนคาดเดาแทบไม่ออกว่าโครงการใดเป็นของหน่วยงานใด เช่น หน่วยงานที่ของบ 16 ล้านบาทมาทำโครงการยกระดับทักษะดิจิทัลระดับสูง กลับไม่ใช่กระทรวงดิจิทัลฯ ที่น่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากที่สุด แต่กลายเป็นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในทางกลับกัน หน่วยงานที่ของบ 32 ล้านบาทมาทำโครงการ “แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน” กลับไม่ใช่กระทรวงแรงงานที่น่าจะรู้เรื่องแผนกำลังคนในตลาดแรงงานได้ดีที่สุด แต่กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จากกระทรวงดิจิทัลฯ
หรือหากขยับมาดูในส่วนของโลกออนไลน์ ปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยมากกว่า 12 แพลตฟอร์มของหน่วยงานรัฐที่ซ้ำซ้อนและไม่เชื่อมโยงกัน โดยไม่ได้เป็นระบบ “Single Sign-On” ที่ลงทะเบียนครั้งเดียว เรียนได้ทุกคอร์ส แต่เป็นระบบ “Endless Silos” ที่เราต้องลงทะเบียนหลายครั้ง กว่าจะได้ดูแค่คลิปเดียว
“ถ้าแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของเอกชนแต่ละเจ้าจะมีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง หรือมีระบบที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันหลังบ้าน ผมเข้าใจได้ แต่ที่เรื่องนี้ให้อภัยได้ยากก็เพราะว่าความ ‘ซ้ำซ้อน’ และ ‘ความสะเปะสะปะ’ ที่เราเห็นนี้กำลังเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้ ‘รัฐเดียวกัน’ บริหารโดย ‘รัฐบาลเดียวกัน’” พริษฐ์กล่าว
- เรากำลังลงทุนในลักษณะที่ “คนเรียนไม่ได้เลือก คนเลือกไม่ได้เรียน” เพราะกระทรวงศึกษาธิการมักคิดแทนโรงเรียนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ โรงเรียนยังมีอำนาจน้อยมากในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณที่ถูกใช้ในโรงเรียนของตนเอง โดยในส่วนของงบอุดหนุนการจัดการศึกษา แม้งบก้อนนี้จะถูกส่งไปที่โรงเรียน แต่ก็ถูกบังคับให้แบ่งออกเป็น 5 ก้อน ซึ่งสร้างข้อจำกัดโดยไม่จำเป็นหากโรงเรียนใช้งบก้อนหนึ่งไม่หมด และอยากนำงบที่เหลือมาใช้สำหรับอีกก้อนหนึ่ง เช่น หากโรงเรียนแห่งหนึ่งต้องการจะยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน และนำเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบมาเป็นการอุดหนุนค่าอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุกคนแทน ก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของงบลงทุน โรงเรียนใดจะได้รับงบลงทุนมาก-น้อย หรือจะลงทุนไปกับเรื่องอะไรระหว่างอาคารเรียน อาคารกีฬา หรือส้วม ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของส่วนกลาง
นอกจากนี้ กระทรวงฯ คิดแทนโรงเรียนเช่นใดในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐก็คิดแทนคิดตลาดเช่นนั้นในการยกระดับทักษะแรงงาน โดยเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าโครงการอัปสกิล-รีสกิลของทุกหน่วยงานของรัฐที่เราเห็นกันในวันนี้ เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการจริง ในเมื่อบางโครงการเน้นไปที่ตัวชี้วัดที่วัดว่าอบรม “เสร็จ” หรือไม่ (มีคนร่วมกี่คน) มากกว่าวัดว่าอบรม “สำเร็จ” หรือไม่ (มีคนได้งานเพิ่มขึ้นกี่คน หรือรายได้เพิ่มขึ้นกี่บาท) ทำให้หลายโครงการมุ่งเป้ากับการหาหรือเกณฑ์คนมาอบรมเพื่อให้ถึงเป้า มากกว่าการวัดผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการอบรม
จากปัญหาข้างต้น พริษฐ์ได้เสนอทางออกสำหรับการจัดงบการเรียนรู้และการยกระดับทักษะตลอดชีวิตให้ตอบโจทย์ โดยต้องผลักดัน “ตัวเปลี่ยนเกม” 3 ตัว คือ
- อัดฉีดงบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลเด็กเล็กใน 1,000 วันแรก เพราะเด็กในวัย 3 เดือน – 2 ปีเป็นช่วงอายุที่ถูกหลงลืมจากรัฐเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่อายุ 3 เดือนสิทธิลาคลอดจะสิ้นสุดลง พ่อแม่จะต้องกลับไปทำงาน แต่ถ้าจะฝากเด็กไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็ต้องรอไปอีก 21 เดือน เพราะส่วนใหญ่พร้อมรับเด็กตั้งแต่ 2 ขวบเป็นต้นไป ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปลดล็อกและสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้ามารับภารกิจสำคัญนี้ โดยในด้านกฎหมาย เราจำเป็นต้องแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นสบายใจและมั่นใจว่าสามารถรับเด็กต่ำกว่า 2 ปีมาดูแลในศูนย์ของตนเองได้ โดยไม่เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางและได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง
ส่วนในด้านงบประมาณ เราจำเป็นต้องอัดฉีดงบอย่างน้อย 20,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นให้ขยายวัน-เวลาเปิดของศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วให้ทั้งนานขึ้นในแต่ละวัน (เพื่อให้พ่อแม่มารับลูกช้าลงได้) และให้เปิดได้ตลอดปีไม่มีปิดเทอม (เพราะพ่อแม่ทำงานตลอดปี) รวมถึงขยายช่วงอายุเด็กที่ส่วนกลางจะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นได้ จากเดิมที่สนับสนุนแค่เด็ก 2 ขวบขึ้นไป ให้ขยายมาครอบคลุมเด็กต่ำว่า 2 ขวบด้วย
- ระเบิดงบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขประสิทธิภาพการใช้งบที่มีอยู่แล้ว และกระจายงบให้ถึงมือโรงเรียน-ครู-นักเรียน โดยในส่วนงบโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการควรเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบอุดหนุนการจัดการศึกษาจากการส่งให้โรงเรียนเป็น 5 ก้อน มาเป็นก้อนเดียวที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้โรงเรียนตัดสินใจเองว่าจะใช้กับอะไร รวมถึงพิจารณาจัดสรรงบลงทุนเป็นเงินก้อนให้โรงเรียนที่พร้อมและประสงค์เป็นคนตัดสินใจเองว่าจะลงทุนในด้านใด ส่วนงบครู เราควรระเบิดงบของโครงการอบรมครูจากส่วนกลางหลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท มาเป็น “คูปอง” ให้ครูและโรงเรียนเป็นคนร่วมกันเลือกเองว่าอยากใช้ไปกับการอบรมด้านใด และในส่วนของงบนักเรียน เราก็ควรระเบิดงบของโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนบางโครงการมาเป็น “คูปองเปิดโลก” ที่ให้เด็กและเยาวชนเป็นคนเลือกเองว่าอยากใช้ไปกับกิจกรรมนอกห้องเรียนแบบใด
- ลงทุนในเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะของคนทุกช่วงวัย ด้วยการเพิ่มงบ 5-10 เท่าจาก 5,000-10,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่มีประชากรแค่ 5-6 ล้านคน แต่มีการลงทุนในโครงการ SkillsFuture มากว่า 10 ปี โดยปีที่แล้วก็ได้รับงบประมาณ 25,000 ล้านบาท ส่วนอินโดนีเซียก็มีการริเริ่มโครงการ Prakerja ในช่วงปี 2563 โดยเริ่มลงทุนไปถึง 44,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาทักษะประชาชน 5.5 ล้านคน
พริษฐ์กล่าวว่า แน่นอนว่าถ้าจะลงทุนมหาศาลขนาดนี้ เราจะเดินหน้าลงทุนด้วยวิธีการแบบเดิมต่อไปไม่ได้ เพราะจะไม่ต่างอะไรกับการเทน้ำเข้าไปในถังน้ำที่รั่ว เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการลงทุนด้วยเช่นกัน กล่าวคือ
3.1 เราต้องเปลี่ยนจากการลงทุนแบบ “เบี้ยหัวแตก” ที่ทำให้ต่างหน่วยงานต่างมีงบแค่กะปริบกะปรอยมาทำคอร์สอบรมหรือแพลตฟอร์มของตัวเองแบบกระจัดกระจายและซ้ำซ้อนกัน มาเป็นการลงทุนแบบ “บาซูก้า” ที่รวมพลัง รวมทรัพยากรทั้งหมดอัดฉีดไปที่โครงการเดียว และดึงทุกหน่วยงานมาทำงานบนแผนเดียวกัน บนแพลตฟอร์มเดียวกัน คือ “แพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติ (National Skills Platform)”
3.2 เราต้องเปลี่ยนจากการลงทุนแบบ “supply-side” ที่อุดหนุนไปที่หน่วยงานรัฐซึ่งวางตนเองเป็น “คุณพ่อรู้ดี คุณแม่รู้ดี” ว่าจะจ้างใครมาอบรมและเกณฑ์ใครมาเรียน มาเป็นการลงทุนแบบ “demand-side” ที่ยิงตรงไปที่ผู้เรียน ใครจะเรียนคอร์สใด เมื่อใด ก็ให้เขาไปเลือกซื้อเองในตลาด
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติต้อง (1) มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ทำเนื้อหาเองเป็นหลัก แต่รวบรวมคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายและมีคุณภาพในตลาดมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียน ค้นหาและเลือกเรียนได้ง่าย (2) ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีเอไอซึ่งเข้าใจความต้องการของแต่ละบุคคล แนะนำคอร์สที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และวัดผลและบันทึกผลการเรียน และ (3) ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่นำไปสู่การจับคู่ผู้เรียนที่กำลังหางานที่ชอบ กับผู้ประกอบการที่กำลังหาคนที่ใช่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ รัฐจำเป็นจะต้องใช้งบส่วนใหญ่ไปกับการอุดหนุนให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เพิ่มทักษะผ่าน “คูปองฝึกทักษะ” 3 ประเภท ซึ่งครอบคลุม
(1) ทักษะพื้นฐาน (foundational skills) เช่น ทักษะภาษาและการอ่านจับใจความ ทักษะดิจิทัลพื้นฐาน ทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งรัฐจัดสรรเป็นคูปองให้ประชาชนวัยทำงานทุกคน เพื่ออุดหนุนค่าเรียน
(2) ทักษะเชิงลึก (advanced skills) ซึ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับคนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่รัฐต้องการส่งเสริม เช่น ทักษะสำคัญสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐอาจจัดสรรเป็นคูปองให้ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งเงินที่นำไปใช้ในการอุดหนุนค่าเรียนและเงินที่ชดเชยค่าเสียเวลาให้กับผู้เรียนเมื่อเรียนจบ โดยอาจอุดหนุนไปทั้งที่ผู้เรียนโดยตรง หรือผู้ประกอบการที่ต้องการส่งพนักงานมาอบรมก็ได้
(3) ทักษะชีวิต (life skills) ที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการสังเกตอาการสุขภาพจิตของคนรอบข้าง ทักษะการเท่าทันข่าวปลอมสำหรับผู้สูงอายุ หรือทักษะการเลี้ยงดูลูกสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่อาจพึ่งกลไกตลาดได้ยาก แต่ต้องหาวิธีการอื่นในการจูงใจให้คนมาเรียน เช่น การลดหย่อนภาษี การเพิ่มการสมทบเงินออม ส่วนลดสินค้าหรือบริการ
“ผมยืนยันว่าเมกะโปรเจกต์เรื่องทักษะที่ผมพูดมานี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เริ่มทำ รัฐบาลอาจจะมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อยู่บ้างที่พอต่อยอดได้ แต่ก็ยังไม่ได้รวบหรือเชื่อมทุกแพลตฟอร์มมาเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ทำหน้าที่ทั้ง 3 อย่างข้างต้นได้ รัฐบาลอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคนในหลายอุตสาหกรรม แต่แนวทางที่เลือกเดินส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวทางที่รัฐคิดแทนตลาดและผู้เรียน มากกว่าให้ตลาดนำและผู้เรียนเลือก ส่วนถ้าใครกังวลว่าแล้วเราจะหางบ 50,000 ล้านมาจากไหน ผมก็ได้ข่าวมาว่ามันน่าจะมีโครงการหนึ่งในปีนี้ที่ใช้งบสูงกว่าที่ผมเสนอถึง 10 เท่า โดยอ้างว่าจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ถ้าจะใช้งบเทียบเท่ากับแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของโครงการนั้น เพื่อมาเพิ่มทักษะให้คนเราแข่งกับโลกได้ ผมก็หวังว่าคงจะไม่ได้เป็นการขอมากจนเกินไป” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะกล่าวโดยสรุป งบประมาณปี 2568 สะท้อนให้เห็นชัดว่ารัฐไทยและรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินยังคงเลือกลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ถนนหนทาง ไปจนถึงอาคารสำนักงาน ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนๆ ก็มีเพียงแค่การลงทุนแจกเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็คือการลงทุนกับการยกระดับทักษะคนในประเทศเรา ดังนั้น การลงทุนกับงบประมาณบูรณาการการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ เพื่อติดอาวุธทักษะให้ประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย และศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก