“วันนอร์” เผย อาจเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ถก งบปี 68 สิ้นเดือนนี้
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เผย อาจเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ถกงบ 68 สิ้นเดือนนี้
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงโอกาสการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมวิสามัญ ว่า มีโอกาสเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลและคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนเมษายน หากรัฐบาลเสนอมา สภาต้องพิจารณาภายในไม่เกิน 15 วัน โดยต้องเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อจะพิจารณาในช่วงปิดสมัยการประชุม ส่วนข้อถามเรื่องกำหนดเวลาการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ยังไม่ได้รับแจ้งจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่จากการติดตามข่าวพบว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 68 เข้าสู่ที่ประชุมครม. ช่วงกลางเดือนเมษายน คาดว่าจะส่งมายังสภาภายในเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงปิดสมัยประชุม ทั้งนี้นอกจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว หากมีเรื่องอื่นใดที่สำคัญเห็นสมควรที่จะเปิดสมัยประชุมวิสามัญจะนำมาพิจารณาต่อไป
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายที่ยังค้างจากการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ว่ามีอยู่หลายส่วนได้แก่ ส่วนที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกมธ.ทั้งกมธ.วิสามัญ และกมธ.สามัญ ส่วนที่สองคือส่วนที่นายกรัฐมนตรีรับไปพิจารณาเพื่อให้คำรับรองซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มีอยู่จำนวน 39 ฉบับ ซึ่งเห็นควรให้รัฐบาลพิจารณาให้แล้วเสร็จในช่วงปิดสมัยประชุมเพื่อส่งมายังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และเมื่อเปิดสมัยประชุมจะได้พิจารณาเพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนซึ่งมองว่ารัฐบาลมีความคาดหวังเช่นเดียวกัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังวิเคราะห์การทำงานของสภาชุดปัจจุบันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งมีการประชุมทั้งสิ้น 32 ครั้ง ว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยดี มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ สมาชิกทุกคนเตรียมตัวมาดีในการอภิปราย มีเอกสารหลักฐานชัดเจน เป็นเรื่องที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ยอมรับว่าการประชุมอาจมีข้อติดขัดบ้างในช่วงแรกที่เป็นช่วงเปิดสมัยประชุม มีปัญหาองค์ประชุมไม่พร้อมเล็กน้อย คาดหวังว่าสมัยประชุมถัดไปน่าจะดีขึ้น ส่วนการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่ผ่านมา มองการประท้วงในการอภิปรายที่มีบ้างเล็กน้อย ถือเป็นสีสันของสภาผู้แทนราษฎร จากประสบการณ์ทำงาน 40 ปี ในสภาฯ มองว่าไม่ได้ส่งผลเสีย ส่วนเรื่องระยะเวลาการอภิปรายที่ยาวไป มองว่าจะสามารถเป็นบทเรียนให้กับการกำหนดเวลาสำหรับการอภิปรายในปีถัดไปได้เพื่อให้เนื้อหามีความกระชับ ไม่ซ้ำซาก และอยู่ในความสนใจของประชาชน