“สุรเชษฐ์” ชง ตัดงบ โครงการฝายดินซีเมนต์สำเร็จ 1,200 ล้าน ชี้ ไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส
“สุรเชษฐ์” เสนอคณะอนุฯ ตัดงบโครงการฝายดินซีเมนต์สำเร็จ วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท ย้ำเหตุผลไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส แต่กระบวนการยังไม่จบ อาจมีการขออุทธรณ์ในที่ประชุม กมธ.งบฯ 67 ต้นสัปดาห์หน้า
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการปกครอง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร ในส่วนงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งนายสุรเชษฐ์ในฐานะกรรมาธิการได้เข้าร่วมให้เหตุผลต่อเนื่องจากการพิจารณาในคณะใหญ่ โดยขอให้คณะอนุฯ พิจารณาปรับลดงบประมาณโครงการฝายดินซีเมนต์และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สถ. แจ้งว่ามีจำนวน 3,326 รายการ วงเงิน 1,254 ล้านบาท จากยอดรวมหนึ่งบรรทัด 2,563 ล้านบาทในเล่มขาวคาดแดง
ก่อนหน้านี้ ในที่ประชุมคณะใหญ่ (กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67) นายสุรเชษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการฝายดินซีเมนต์เป็นโครงการ “แจกเสื้อโหล” โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่เท่าที่ควร พร้อมกับตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น (1) เรื่องระยะเวลาการขอและอนุมัติงบประมาณที่ดูเหมือนรีบตรวจรีบชงอย่างผิดสังเกต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีเวลาเพียง 12 วัน ในการสำรวจหน้างาน เลือกสถานที่ทำฝาย ทำแบบก่อสร้าง ประเมินราคา ก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทยให้ ครม. พิจารณาอนุมัติแบบด่วนพิเศษ (2) เรื่องมูลค่าของฝายดินซีเมนต์หลายแห่งมีราคากลางต่ำกว่า 500,000 บาทเพียงเล็กน้อย เหมือนจงใจหลีกเลี่ยงการแข่งขัน โดยอาศัยเงื่อนไขใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(3) ฝายดินซีเมนต์มีลักษณะเป็น “ฝายชั่วคราว” ซึ่งในทางวิศวกรรมประเมินว่าโดยเฉลี่ย 2-3 ปีก็พัง อาจเป็นกลโกงหลบเลี่ยงการประกันผลงาน จากปกติที่การก่อสร้างต้องมีระยะเวลาประกันผลงานอย่างน้อย 2 ปี แต่มีช่องทางกฎหมายยกเว้นให้สำหรับงานดินที่ไม่มีการดาดคอนกรีต (4) การถูกนำไปโฆษณาเกินจริง เช่น จะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้งสำหรับการเกษตร ทั้งที่จริงฝายดินซีเมนต์เก็บน้ำได้ไม่มาก ไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร และฝายก็ไม่ได้มีไว้เพื่อเก็บน้ำ แต่มีไว้เพื่อยกน้ำให้สูงขึ้นเพื่อส่งเข้าระบบชลประทานซึ่งแทบไม่มีในโครงการนี้ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าฝายไม่ได้เหมาะที่จะสร้างทุกที่ หากสร้างผิดที่ จะเป็นการทำลายแหล่งน้ำ
โดยในการประชุมคณะอนุฯ เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) นายสุรเชษฐ์ได้อธิบายถึงเหตุผลและยืนยันอย่างหนักแน่นว่าต้องตัดงบประมาณของโครงการฝายดินซีเมนต์เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการจะเป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว “เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ” อย่างเห็นได้ชัด โดยได้เสนอว่าหากใครในที่ประชุมไม่เห็นด้วยก็ขอให้แสดงตนพร้อมเหตุผลในการคัดค้าน
ทั้งนี้ ผลการลงมติปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ของคณะอนุฯ เห็นด้วยให้ตัดงบฝายดินซีเมนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จในชั้นอนุกรรมาธิการตามที่คณะใหญ่ได้มอบหมายหน้าที่ให้มาพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม กระบวนการยังไม่จบ ต้องรอดูช่วงต้นสัปดาห์หน้าว่าหน่วยงานจะขออุทธรณ์มาที่คณะใหญ่หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ศึกษามาอย่างดีแล้วและพร้อมสู้ด้วยเหตุผลเพื่อปรับลดงบประมาณในโครงการที่ไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใสเช่นนี้ อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนี้ ในอนาคต ตนอยากเห็นการกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง ให้กรอบเงินไปแล้วท้องถิ่นมีสิทธิ์เลือกใช้เอง รับทั้งผิดและชอบเอง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดีกว่าการ “แจกเสื้อโหล โดยไม่สนใจ Flow ของน้ำ” นายสุรเชษฐ์กล่าวสรุป