ณัฐชา ถาม ทวี ตอบ ทักษิณ ป่วยเป็นโรคอะไร เข้าเกณฑ์พักโทษ โดยไม่นอนคุก
- “ณัฐชา” ถามกระทู้ กรณีพักโทษ “ทักษิณ”
- ป่วยโรคอะไรที่เข้าเกณฑ์ ชราภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างไร
- ด้านรัฐมนตรี ยืนยันเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ
วันที่ 22 ก.พ.2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 27 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณา รวมถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ
นายณัฐชาระบุว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งหากย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่า ในวันแรกที่ท่านกลับมารับโทษ ท่านก็ได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจในวันเดียวกัน วันที่สองถึงวันที่ 180 ท่านเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจตลอด จนกระทั่งในวันที่ 181 ท่านก็ได้รับการพักโทษ
หากพิจารณาว่ามีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษบ้าง ก็จะพบว่ามี 3 องค์ประกอบหลัก ซึ่งต้องทำให้สอดคล้องกันตามหลักของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คือ
1) พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 52 ว่า ผู้ที่จะได้รับการพักโทษ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้แสดงถึงความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ
2) กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564
3) ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2563
ตนจึงขอถามคำถามแรกกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า 3 องค์ประกอบที่ต้องสอดคล้องกันนั้น อดีตนายกฯ ทักษิณมีคุณสมบัติอย่างไรที่ผ่านเกณฑ์มาทั้ง 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการต่าง ๆ ที่ประกาศไว้
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบคำถามแรกว่า การพักโทษของอดีตนายกฯ ทักษิณเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 52 ข้อที่ 7 ซึ่งระบุถึงการพักโทษเมื่อเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3
ส่วนกฎกระทรวงเรื่องการพักโทษก็จะมีอยู่สองส่วน ส่วนที่เป็นการพักโทษทั่วไปจะอยู่ในการพิจารณาของ “คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ” ซึ่งมีทั้งหมด 19 คน ประกอบด้วยบุคลากรจากกระทรวงยุติธรรม ทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ เลขาธิการศาลยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการพักโทษจะมีการพิจารณาเดือนละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย
และยังมีการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องมีความเห็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อยู่ในกฎกระทรวง โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะนำรายชื่อที่มีการเสนอขึ้นมาส่งไปให้คณะอนุกรรมการ 19 คนให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะอนุกรรมการเห็นชอบแล้วก็จะส่งมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุในการพักโทษพิเศษที่เกิดขึ้นในอดีตก็จะมีอยู่ประมาณ 7-8 ประเภท ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ทั้งกรณีนักโทษที่เข้าข่ายเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป โดยเป็นเรื่องของผู้บัญชาการเรือนจำที่จะเสนอขึ้นมา แล้วอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะเป็นผู้นำเสนอเข้าไปในคณะอนุกรรมการ ซึ่งตนยืนยันว่าคณะอนุกรรมการไม่ได้เป็นตรายาง แต่มีการวินิจฉัย โดยในการพิจารณารอบเดียวกับอดีตนายกฯ ทักษิณมีทั้งหมด 945 กรณี มีการวินิจฉัยไม่ให้ 15 คน และวินิจฉัยให้ 930 คน
ในกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณก็มีผู้อภิปรายให้ความเห็น เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดูหลักฐานทางการแพทย์แล้วเห็นว่าเข้าเกณฑ์พักโทษ ขณะที่สำนักงานอัยการมีคำถามว่าการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำจะถือเป็นประเด็นหรือไม่ ก็มีการตอบว่า คำว่า “เรือนจำ” ในกฎหมายหมายถึงที่ควบคุมขังหรือจำคุกผู้ขัง ซึ่งในกฎกระทรวงมีระบุไว้ว่าการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ถือว่าเป็นที่ควบคุมขัง โดยมีการระบุว่าไม่ให้ไปอยู่ห้องพิเศษ เว้นแต่โรงพยาบาลจะให้ไปอยู่ใน “ห้องควบคุมพิเศษ” ไม่ใช่ห้องรักษาพิเศษ
ดังนั้น ตามกฎกระทรวงที่ระบุว่าโรงพยาบาลเป็นที่ควบคุมขัง จึงขอเรียนว่าการพักโทษอดีตนายกทักษิณฯ เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณา เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ กฎกระทรวง ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาการพักโทษ และเสนอมาขออนุมัติตามลำดับชั้น
ต่อคำถามแรก นายณัฐชา กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีที่ช่วยขยายคำถามของตน ว่ากฎหมายระบุหลักเกณฑ์ในการพักโทษไว้อย่างไรบ้าง แต่ตนยังไม่ได้รับคำตอบว่าแล้วอดีตนายกทักษิณฯ เข้าหลักเกณฑ์ข้อไหน อย่างไร ในส่วนของกฎกระทรวงที่ระบุไว้ชัดเจนว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องเห็นควรให้ได้รับการพักโทษ ตนก็ถามว่าใช้วิธีการใดในการพิจารณา แต่รัฐมนตรีก็มาอ่านคำถามเหมือนเดิม ขอให้ตอบมาเลยว่าวิธีการมีอะไรบ้างที่อธิบดีฯ จะคัดจากคนกว่า 2 แสนคนมาส่งให้คณะอนุกรรมการ ตนไม่ได้อยากทราบว่าอนุกรรมการมีกี่คน แต่อยากทราบว่าเมื่อคณะอนุกรรมการเห็นชอบแล้วส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็คือท่าน คำถามคือรัฐมนตรีได้เห็นลายลักษณ์อักษรการพิจารณาตั้งแต่อธิบดีมาจนถึงคณะอนุกรรมการแล้ว แล้วการพักโทษในกรณีนี้เป็นไปด้วยคุณสมบัติอย่างไร
ในส่วนของประกาศกรมราชทัณฑ์ ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ จะต้องเป็นผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งใน 7 โรคที่จะส่งผลต่อชีวิตหากถูกคุมขังต่อ หรือเป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขอให้รัฐมนตรีตอบให้ชัดเจนเลยว่ามีโรคอะไรบ้าง หรือหากได้รับคุณสมบัติเป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ขอให้ตอบให้ชัดเจนว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างไร ถ้าท่านตอบให้ชัดใน 3 เรื่องนี้ได้ สังคมก็จะคลี่คลายความสงสัยไปเอง
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบคำถามว่า การพิจารณาพักโทษพิเศษจะมีเกณฑ์การเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จะมีเกณฑ์ที่มีมาตรฐานจากการประเมินของโรงพยาบาล ซึ่งอย่างน้อยต้องมีแพทย์สองท่านให้คะแนนประเมินไม่เกิน 11 โดยในกรณีอดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นไปตามเกณฑ์ คือไม่ถึง 11 คะแนน แต่ทั้งนี้ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับ ผู้ใดจะนำมาเปิดเผยด้วยประการใด ๆ อันน่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่จะเปิดเผยตามวัตถุประสงค์โดยตรงของผู้ป่วยนั้น ๆ และจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ หรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารด้านสุขภาพของบุคคลดังกล่าวไม่ได้
ต่อคำถามที่สอง นายณัฐชา กล่าวว่า คำตอบของรัฐมนตรีเป็นการขยายความคำถามของตนอีกแล้ว และยืนยันว่าตนไม่ได้ขอประวัติการรักษา ไม่ได้ขอรายละเอียดการประเมิน ความจริงวันนี้ตนอยากถามรัฐมนตรีคำถามเดียว ถ้าท่านตอบได้กระจ่างก็จะไม่ถามคำถามต่อด้วยซ้ำ แต่วันนี้ทั้งคำถามแรกและคำถามที่สองก็ยังไม่ชัดเจน จึงขอถามเป็นคำถามสุดท้าย ดังนี้
การที่รัฐมนตรีระบุว่าแบบประเมินเป็นของกรมอนามัย ตนไม่อยากทราบว่าผลการประเมินเป็นอย่างไรจึงต่ำกว่า 11 คะแนน แต่อยากทราบว่าผู้ประเมินเป็นใครบ้าง และประเมินกี่ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากเป็นกรณีที่อายุ 70 ปีขึ้นไปตามประกาศกรมราชทัณฑ์ ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งออกให้โดยแพทย์สองท่าน รับรองการเจ็บป่วยดังกล่าวมาประกอบการพักโทษด้วย ตนไม่ต้องการสอบถามรายละเอียดว่าอดีตนายกฯ ทักษิณมีโรคอะไรบ้าง แต่อยากทราบว่าแพทย์สองคนที่ได้รับรองโรคให้นั้นเป็นใคร
“เพราะเป็นหมอเทวดา ที่ก่อน 180 วันเข้าไปอาการเจ็บปวดสาหัส แต่พอครบ 180 วันหายได้ทันที และออกมาวันที่ 181 กลับบ้านได้ นี่ถือว่าเป็นคุณหมอเทวดาที่พี่น้องประชาชนจะต้องเชิดชูเลื่อมใส และเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน เพราะฉะนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรู้อยู่แก่ใจ ท่านตอบในที่สภาฯ แห่งนี้ได้เลย เกณฑ์การประเมินมีการประเมินกี่ครั้ง ประเมินโดยใคร เกณฑ์การรับรองมีแพทย์สองคนรับรอง เป็นแพทย์ของใคร โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ หรือกระทรวงสาธารณสุข?” ณัฐชากล่าว
ในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า การประเมินจะมีแบบประเมินที่อย่างน้อยต้องมีผู้ประเมินที่เคยเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพพยาบาลจำนวนสองคน พร้อมกับมีความเห็นของแพทย์ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งประเมินแล้วมีคะแนนต่ำกว่า 11 เล็กน้อย เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบทุกประการ และในกรณีนี้ยังมีคณะแพทย์ที่ร่วมกันให้ความเห็นด้วย ดังนั้น ทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ทั้งหมด
จากนั้น นายณัฐชา ได้ลุกขึ้นอภิปรายทิ้งท้าย โดยกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่นำหลักเกณฑ์มาประกาศให้ทราบในที่ประชุมสภาฯ แห่งนี้ เพราะฉะนั้น นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปสามารถไปขอแบบฟอร์มที่กรมอนามัยมาประเมินแล้วส่งให้รัฐมนตรีได้เลย มีมาตรการในการพักโทษผู้ต้องหาอายุ 70 ปีมากมายที่เข้าหลักเกณฑ์ ถ้าหากไปดำเนินการแล้วไม่สัมฤทธิ์ผล ก็ขอให้เอาเทปวันนี้ไปเปิดให้ฟังได้เลย ว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม