แก้หนี้ครบ 62 วัน มูลหนี้ใกล้แตะ 1 พันล้านบาท

ปลัดมหาดไทยเผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 62 วัน มูลหนี้ 9,361 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.37 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 10,036 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 618 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 62 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 9,361.348 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 137,019 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 115,761 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 21,258 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 105,050 ราย

โดยมีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,086 ราย เจ้าหนี้ 7,624 ราย มูลหนี้ 828.208 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,605 ราย เจ้าหนี้ 5,111 ราย มูลหนี้ 379.240 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,085 ราย เจ้าหนี้ 3,992 ราย มูลหนี้ 333.125 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,804 ราย เจ้าหนี้ 3,605 ราย มูลหนี้ 392.300 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,589 ราย เจ้าหนี้ 2,972 ราย มูลหนี้ 310.134 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 221 ราย เจ้าหนี้ 231 ราย มูลหนี้ 14.023 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 307 ราย เจ้าหนี้ 221 ราย มูลหนี้ 20.818 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 363 ราย เจ้าหนี้ 281 ราย มูลหนี้ 13.126 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 440 ราย เจ้าหนี้ 329 ราย มูลหนี้ 20.074 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 467 ราย เจ้าหนี้ 344 ราย มูลหนี้ 23.725 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 17,012 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 10,036 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,647.801 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,029.436 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 618.365 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,116 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 267 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 249.446 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 23.294 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 226.152 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกว่า 198 คดี ใน 31 จังหวัด หมายถึง เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วไม่ยอมดำเนินการตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ยินยอมตกลงกัน ก็จะต้องดำเนินคดี รวมถึงผู้ที่ขู่กรรโชกและไปทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมประการแรก คือ เจ้าหนี้นอกระบบทุกรายถือว่าทำผิดกฎหมายทุกคน เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพการปล่อยกู้ อีกประการหนึ่ง คือ เก็บดอกเบี้ยแพงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่สังคมต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เราจึงเชิญมาพูดคุยหารือกัน ถ้าไกล่เกลี่ยตกลงคุยกันได้ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอน หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนของการจัด “ตลาดนัดแก้หนี้” เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นคนกลางช่วยเหลือ เพื่อทำให้ได้รับการปรับปรุงหนี้ โดยเชิญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งตำรวจ อัยการ จัดหางาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงธนาคารออมสิน ธกส. เพื่อมาช่วยกันหาแนวทางให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวทางไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยจัดกิจกรรมขึ้น อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง
กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย