“จุรินทร์” เตือน ดิจิทัลวอลเล็ต อย่าซ้ำรอยจำนำข้าว
“จุรินทร์” เตือน ดิจิทัล วอลเล็ต อย่าซ้ำรอยจำนำข้าว ยิ่งแถลงยิ่งมะงุมมะงาหลา ไม่ชัดเจน ซ้ำเติมความเชื่อมั่น
วันที่ 12 ต.ค.66 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นคนติดกระดุมเม็ดแรกตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ทำคงไม่ได้ ตนได้พูดไว้แล้วตั้งแต่ตอนรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ตอนหาเสียง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย เพราะตอนหาเสียงก็มีเสียงท้วงติงเยอะในขณะนั้น แต่มาถึงตอนนี้ไม่ทำไม่ได้แล้ว
“สิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังก็คือ อยากให้การดำเนินการอย่าซ้ำรอยจำนำข้าว ผมก็เตือนเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน เพราะหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง และมาจนถึงวันนี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลก็ยังมะงุมมะงาหลาอยู่ เพราะอย่างน้อย 2 ข้อนี้จะทำอย่างไร กับ 2 จะเอาเงินมาจากไหน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเต็ม 100% แม้จะมีการแถลงมาเป็นระยะก็ตาม ยิ่งแถลงก็ยิ่งสะท้อนว่าความชัดเจนสุดท้ายยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องเร่งทำความชัดเจน ไม่เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจก็ขาดความเชื่อมั่น จะกลายเป็นว่ายิ่งแถลงก็ยิ่งซ้ำเติมความไม่เชื่อมั่น จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ตอนจำนำข้าวก็เริ่มต้นแบบนี้ ท่ามกลางเสียงทักท้วง แล้วที่ชัดขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็คือ ปปช. ก็ติดตาม ตอนจำนำข้าว ปปช. ก็ติดตามเหมือนกัน” นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมว่า วันนี้จะมีการประชุมกรรมาธิการสามัญพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งตนเป็นประธานที่ปรึกษากรรมาธิการ ก็จะได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม เพื่อให้ติดตามโครงการดิจิทัล วอลเล็ตด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ และเป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของการประชุมวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ตนจะได้หารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เข้าใจว่าจะมีการประชุมในวันนี้ตอนบ่ายโมงครึ่ง ซึ่งตัวแทนประชาธิปัตย์ ก็จะมี ตนและประธาน ส.ส. ของพรรคจะได้เข้าร่วมหารือด้วย สำหรับแนวทางการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า เราพร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ในการตรวจสอบติดตามการทำงานของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ไปขัดขวางการทำงานของรัฐบาล แต่ต้องตรวจสอบ เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบริหาร อีกฝ่ายก็มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับประชาชน