เพื่อไทยกลืนก้าวไกลไม่เข้า คายพรรคสองลุงไม่ออก
เพื่อไทยตัดสินใจฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมรัฐบาล สลัดก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เปิดประตู พรรคสองลุง มาไว้ในอ้อมกอด
เพื่อไทยตัดสินใจฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมรัฐบาล สลัดก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เปิดประตู พรรคสองลุง มาไว้ในอ้อมกอด
คณิตศาสตร์การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล ทำท่าว่าการขอเสียงสนับสนุนจาก สส.และ สว.ในการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะไปไม่ได้ฝั่งฝัน
ด้วยข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ใครคือคนที่ “ถูกเลือก” เสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน – อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หรือ “ชัยเกษม นิติสิริ”
3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มีจุดเด่น-จุดด้อยแตกต่างกัน และ “บาดแผล”
จากเดิมที่คิดว่า ชื่อ “เศรษฐา” จะ “นอนมา” แต่ “กรรมเก่า” ที่เคยเปล่งไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เกี่ยวกับการแสดง “จุดยืน” ต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนถูกขุดคลิป-เปิดบาดแผล
มิหนำซ้ำยังถูก “เสี่ยชูวิทย์” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้ป่วยมะเร็งตับ ระยะที่ 3 ออกมาขย่ม-เขย่า “แฉเพื่อชาติ” เพื่อสกัด “ผู้ชายตัวสูง” ไม่ให้เดินลอยชายเข้าทำเนียบรัฐบาลอย่างง่าย ๆ
“เฮียชู” เก็บงำความลับสมัยที่นายเศรษฐา เป็นผู้บริหารสูงสุด-กรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เอี่ยวกับการ “เลี่ยงภาษี” ในการซื้อขายที่ดิน จำนวน 521 ล้านบาท จนทำให้ “ต้นสังกัดเก่า” ของนายเศรษฐาออกแถลงการณ์ชี้แจง-ปฏิเสธ
ขณะที่ “อุ๊งอิ๊งค์” บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร พร้อมสืบเชื้อสายนายกรัฐมนตรีทายาทตระกูลชินวัตร ต่อจาก “อาปู-ยิ่งลักษณ์” ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ผ่านด่าน “คุณหญิงแม่” พจมาน ณ ป้อมเพชร เพราะไม่ปลื้ม–ไม่ยอมให้ชะตากรรม “เลือดในอก” ตกอยู่ในที่มืดที่เต็มไปด้วยคมหอกคมดาบจากฝ่ายชนชั้นนำ-อนุรักษนิยมสุดขอบ
แรงปรารถนาของ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ไม่ได้ต้องการมงกุฎราชินีแห่งตึกไทยคู่ฟ้า แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณ-ต้อนรับการกลับแผ่นดินแม่ของ “หัวหน้าครอบครัวชินวัตร” ณ สนามบินดอนเมือง
ส่วนชื่อ “ชัยเกษม” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย “เบอร์สาม” ที่ถูกจัดลำดับเป็น “ม้านอกสายตา” เพราะปัญหาเรี่องสุขภาพ กลายเป็น “ม้ามืด” รอจังหวะ “หักปากกาเซียน” เข้าป้าย-แตะเส้นชัยทำเนียบรัฐบาล
“ชัยเกษม” “อดีตอัยการสูงสุด” และ “อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยการพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อ “นายใหญ่” ตระกูลชินวัตร
สมัยที่นายชัยเกษมเป็นอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่เกิดจาก “ผลไม้พิษ” ของคณะรัฐประหาร ในคดีที่นายทักษิณตกเป็นจำเลย อาทิ คดีหวย 2 ตัว 3 ตัว คดีทุจริตในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ
“ชัยเกษม” เปรียบเสมือนเป็น “เนติบริกร” แห่งบ้านชินวัตร
ปัจจุบันนายชัยเกษมยังสวมหมวก “ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง” และ “ประธานคณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม” ในพรรคเพื่อไทย
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ 3 คน “ชัยเกษม” ติดโผอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยถึง 2 ครั้ง
นอกจากปัญหา “ปัจจัยภายใน” แล้ว พรรคเพื่อไทยยังมี “ปัจจัยภายนอก” ที่ “คาราคาซัง” ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 สิงหาคม 66 กรณีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติหรือไม่
ทำให้นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไม่สามารถนัดวันเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “รับคำร้อง” กระบวยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก็ต้องถูกชะลอออกไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
เลวร้ายกว่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ไม่เป็นญัตติ” จะทำให้สามารถ “เสนอชื่อซ้ำ” ได้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องหาวิธีรับมือกับพรรคก้าวไกล ไปจนถึง “ด้อมส้ม” ในการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกลับมาอีก
ขณะเดียวกันยังเจอความ “เขี้ยวลากดิน” ของ “พรรคอันดับสาม” อย่าง พรรคภูมิใจไทยของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล ที่มี “อำนาจต่อรอง” ถึง 70 เสียง สามารถชี้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้เป็นของพรรคเพื่อไทยได้-ไม่ได้
เมื่อใดที่พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถการันตี “กระทรวงเกรดเอ” 3 กระทรวงหลัก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้กับพรรคภูมิใจไทยได้ ไม่มีวันกดปุ่มเห็นด้วยให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน
ขณะที่พลังประชารัฐ มีการปรับกระบวนทัพ-โครงสร้างกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งสำคัญเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
คือ การ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ดัน “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค กุมบังเหียนพลังประชารัฐ แทนนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ถูกแขวนไปเป็นรองหัวหน้าพรรค เพราะ “ขาลอย” ไม่ได้เป็น สส.
โดยเฉพาะการเปิด “ตำแหน่งใหม่” คือ “ประธานที่ปรึกษาพรรค” ที่ใส่ชื่อ บิ๊กป๊อด-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายแท้ๆ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่งตัวรอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวางมือทางการเมือง ก็เป็นการทะลายกำแพง-เปิดทางเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย “ประตูได้ถูกเปิดออก” แล้ว
ดังนั้นในทางปฏิบัติแม้พรรคเพื่อไทยจะอมพระมาพูดว่า ไม่จับมือกับ “พรรค 2 ป.” แต่ไม่สามารถตัดขาดกับ “พรรคสองลุง” ได้ เพราะทั้ง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร ต่างกำเสียงเครือข่าย สว.ไว้ในมือ
“พรรคลุง” จึงเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ของพรรคเพื่อไทยที่ปฏิเสธไม่ได้
สัญญาประชาคมของหัวหน้าพรรค-หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กระทั่ง “เศรษฐา” ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ว่า “ไม่มีลุง” ต่างกรรมกรรม-ต่างวาระ มีราคาที่ต้องจ่ายในการเลือกตั้งครั้งหน้าสูงลิบลิ่ว
สลัดพรรคก้าวไกลออกไปได้ แต่ไม่สามารถสะบัดพรรคสองลุงได้ พรรคเพื่อไทยจึงตกที่นั่งลำบาก-กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงขั้นอาจติดคอเข้าไอซียู