วันนอร์ สั่งเลื่อน ประชุมรัฐสภา หลัง “ก้าวไกล” ดัน โหวตพิธา รอบ 2
วันนอร์ สั่งเลื่อน ประชุมรัฐสภา หลังก้าวไกล ดัน โหวตพิธารอบ 2
เวลา 11.27 น. วันที่ 4 ส.ค.66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาข้อ 22 เลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไปก่อน หลังไม่ได้ข้อยุติ กรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนทบทวนมติรัฐสภา ประเด็นการเสนอชื่อซ้ำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ก.ค. 66
ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงว่า ยืนยันว่าญัตติที่ สส.พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการทบทวนมติรัฐสภาเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ อยู่ภายใต้การกำกับของข้อบังคับฯ ข้อ 41 นั้น เป็นกระบวนการตามปกติ เป็นญัตติที่ถูกต้อง และประธานสภาควรเปิดให้มีการลงมติ
“ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้วันมูฮัมหมัดนอร์ ดำรงตำแหน่งประธานสภา มีข้อกังวลว่าการปิดสภาวันนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าไม่สง่างาม อาจถูกมองได้ว่าเมื่อเห็นว่าเสียง สว. ไม่มากพอจึงไม่นำไปสู่การลงมติ หวังว่าการดำเนินการประชุมหลังจากนี้จะดีขึ้น” นายชัยธวัชกล่าว
เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเลือกนายกฯ ของรัฐสภาในวันนี้ สามารถดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องรอมติของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา และที่สำคัญ ต่อให้สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาลงมติว่าให้เลื่อนวาระการเลือกนายกฯ ออกไปก่อน ก็ยังมีวาระที่สองคือพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเลือกนายกฯ มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง การพิจารณาเพื่อปิดสวิตช์ สว. ตามร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ หากผ่านวาระที่หนึ่ง จะทำให้สถานการณ์การเลือกนายกฯ ไม่เดินไปสู่ทางตัน จึงหวังว่าการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปจะดำเนินการประชุมได้โดยเร็วที่สุดและเป็นปกติ
ด้านนายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า วันนี้ สส. ก้าวไกลพร้อมทำหน้าที่ เราตั้งใจยื่นญัตติเพื่อขอทบทวนมติรัฐสภา หลังจากก่อนหน้านี้มีการเข้าชื่อกันของนักวิชาการ และผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การพิจารณาเลื่อนวาระเลือกนายกฯ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ใช้อำนาจกลไกของสภาฯ หาทางออกได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญ
“พวกเราไม่มีเจตนาประวิงเวลา ความเป็นจริงท่านประธานต้องให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เร็วที่สุด และหวังว่าเมื่อสภามีมติไปแล้ว เช่น มติให้ทบทวนและเลิกในผลที่เราเคยมีมติ ก็จะได้ไม่ต้องมาเจอเงื่อนไขเลื่อนการประชุมครั้งต่อไป เพราะไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรในอนาคต” นายรังสิมันต์ กล่าว
โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่าการเสนอของพรรคก้าวไกลในวันนี้ไม่ใช่ญัตติซ้ำ เพราะเนื้อหาสาระคือการเสนอให้ทบทวน ซึ่งแตกต่างจากวันที่ 19 กรกฎาคม ที่เป็นมติเรื่องการตีความข้อบังคับว่าการเสนอชื่อนายกฯ คือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเสนอได้อีกหรือไม่ ตามข้อบังคับฯ ข้อ 41
ส่วนที่ประธานสภาพยายามอธิบายว่าตามข้อบังคับฯ ข้อ 151 มีข้อความระบุการตีความนั้นต้องเป็นการตีความที่เด็ดขาด แต่คำว่าเด็ดขาดในที่นี้หมายความว่าเมื่อตีความไปแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดยกเรื่องเดิมมาอีกไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้ที่ประชุมของรัฐสภามีการทบทวนวินิจฉัยอีกครั้ง เทียบเคียงกับองค์กรอื่น เช่น ศาล ที่มีอำนาจเด็ดขาดลักษณะเดียวกัน ถึงที่สุดก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นยืนยันว่าการเสนอเช่นนี้ทำได้แน่นอน และเพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยก็ได้ช่วยยืนยันแล้ว
“ทั้งหมดนี้จึงน่าแปลกใจและน่าเสียดายที่การประชุมของสภาต้องสิ้นสุดโดยไม่มีข้อยุติอะไรเลย ที่น่าเสียดายที่สุดคือวาระพิจารณายกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นประตูทางออกของประเทศ วันนี้เราทราบตั้งแต่ต้นว่ามีความพยายามล้มการประชุม ถ้าไม่ได้ สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ช่วยกระตุ้นก็คงไม่มีการแห่เข้ามาประชุม แต่การใช้วิชามารแบบนี้ คำถามสำคัญที่พี่น้องประชาชนถามก็คือ ประเทศได้อะไร” นายรังสิมันต์ กล่าว