รัฐสภา อภิปรายโหวตนายกฯ ส.ว.-ฝ่ายค้าน ไม่เอา พิธา
อภิปรายโหวตนายกฯ ส.ว.-ฝ่ายค้าน ไม่เอา พิธา
วันที่ 13 ก.ค. มีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกฯ เป็นครั้งแรก โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ซึ่งกำหนดวาระ คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ
ในการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ส.ส.ลงชื่อรับรองชื่อนายพิธา รวมทั้งสิ้น 302 คน ทั้งนี้ไม่พบการเสนอชื่อบุคคลอื่นแข่งขัน
จากนั้นประธานในที่ประชุม ได้เปิดในสมาชิกได้อภิปราย โดย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี เป็นตัวแทนพรรคภูมิใจไทย อภิปราย ไม่สนับสนุนนายกฯ ที่มาจากพรรคที่มีนโยบายแก้ไข ม.112 และเรียกร้องให้ 7 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าว หากรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมเป็นฝ่ายค้าน และจะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่งขัน
นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. ระบุว่า การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 คือมีปัญหาเรื่อง ถือหุ้นสื่อ ย้ำเมื่อเป็นคนที่ขาดคุณสมบัติแล้วจึงไม่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และหากสมาชิกรัฐสภายืนยันโหวตอาจนำปัญหาตามมาได้ พร้อมยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า นายพิธา ชนะการเลือกตั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด จึงควรจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามครรลองปกติในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเลือกแล้วว่านายพิธา ควรได้เป็นนายกฯ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดคำถาม หาก นายกฯ คนใหม่ไม่เป็นไปตามผลเลือกตั้ง แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า กำลังพัฒนาบุคลิกของตน โดยเฉพาะการเป็นคน “พูดแล้วทำ” เหมือนสโลแกนของพรรคภูมิใจไทย ย้ำผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่มีความอดทนอดกลั้น รับฟังกับข้อกล่าวหาที่จะจริงหรือไม่จริง พร้อมยืนยันยังมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีทุกประการ และไม่ต้องกังวล
ส่วน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปราย ไม่สนับสนุน นายพิธา เป็นนายกฯ รับไม่ได้เพราะก้าวไกลผลักดันการแก้ ม.112 ทั้งนี้ ตนทราบดีว่าการเสนอแก้ ม.112 เข้าสภาก็ไม่ได้ผ่านง่ายๆ แต่อยากให้เคารพความคิดของ ส.ว.จำนวนหนึ่งด้วย ชี้คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าใน 14 ล้านเสียง หรืออีกจำนวนมากที่ไม่ได้เลือก เขาเห็นว่า ม.112 เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความผูกผันของสถาบันและประชาชน