เครือข่ายผู้สังเกตการณ์ฯ จี้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง จี้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว หลังครบหนึ่งเดือน
วันที่ 14 มิ.ย. 2566 ครบรอบหนึ่งเดือนการเลือกตั้ง 2566 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเดินทาง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ กกต. ให้รีบรับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า แม้ตามกรอบเวลาทางกฎหมายแล้วสามารถใช้เวลาได้ 60 วัน แต่ กกต. สามารถใช้เวลาน้อยกว่านี้ได้ ดังที่การเลือกตั้งปี 2544 ใช้เวลาตรวจผลคะแนนเพียง 16 วัน การเลือกตั้งปี 2548 ใช้เวลาเพียง 29 วัน และการเลือกตั้งปี 2554 ใช้เวลาเพียง 24 วันเท่านั้น การตรวจผลคะแนนเกินหนึ่งเดือนดังในการเลือกตั้ง 66 เป็นการตรวจผลคะแนนที่ล่าช้ากว่าปกติเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่ใช้เวลาในการประกาศผลอย่างเป็นทางการเกินหนึ่งเดือน เคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในการเลือกตั้งปี 2562 ยิ่งชีพระบุว่าในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวซ้อนทับกับช่วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงถือว่าความล่าช้าในการประกาศรับรองผลครั้งนั้นยังมีคำอธิบายอยู่บ้าง แตกต่างจากความล่าช้าในปัจจุบัน
นายยิ่งชีพ กล่าวถึงข้อเรียกร้องทวงถามการรับรองผลคะแนนที่เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 จนได้รับคำตอบจาก กกต. ว่า เป็นเพราะต้องมีการนับคะแนนใหม่หลายเขต ซึ่งปัจจุบันมีการนับคะแนนในเขตเหล่านี้เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2566 ทั้ง 47 หน่วยเลือกตั้ง ความล่าช้าในปัจจุบันจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่สามารถอธิบายได้
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนกำลังเฝ้ารอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมโดยประชาชน ทว่า ความล่าช้าของ กกต. ครั้งนี้จะยิ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกประวิงเวลาออกไป และจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย หากมีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลจากเสียงประชาชน ตนเชื่อว่าจะมีผู้ออกมาส่งเสียงเป็นจำนวนมาก
ด้านนายกฤต แสงสุรินทร์ ตัวแทนจาก We Watch กล่าวถึงปัญหาที่ตรวจพบในการเลือกตั้งแต่ยังไม่ถูกพูดถึงก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง เช่น ปัญหาการกรอกหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผิดพลาด ระบบการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วแต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้กลับมาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง ทำให้มีผู้เสียสิทธิมากถึง 200,000 ราย
ปัญหาต่อมาพบได้ในวันเลือกตั้งจริง เช่น การไม่กรอกเอกสารรายหน่วยให้ชัดเจน จนทำให้การตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งเพื่อป้องกัน “บัตรเขย่ง” เป็นไปได้ยากขึ้น หรือการที่อาสาสมัครจำนวนมากไม่ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วย (กปน.) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความผิดพลาดในลักษณะ “Human Errors” แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างและข้อกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงควรถูกภาคประชาสังคมและ กกต. พูดถึง เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป