อย่างไว ชัชชาติ แถลงผลงาน 1 ปี 365 วัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำงานครบ 1 ปี แถลงผลงาน ใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย
(13 มิ.ย. 66) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ” ชี้แจงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย รวมถึงทิศทางการการพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โฆษกสภากรุงเทพมหานคร และรองโฆษกสภากรุงเททพมหานคร ร่วมการแถลง

“365 วันที่ผ่านมา เป็น 365 วันที่สนุกและยังคงมีพลังเหลือเฟือในการทำงานต่อ ทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่ผลงานของชัชชาติคนเดียว แต่เป็นผลงานของทีมทุกคนที่ร่วมมือกัน เป็นผลงานของผู้บริหาร พี่น้องข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ทีมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เป็นกำลังสำคัญในการออกกฎหมาย และเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อจริง ๆ ในช่วงแรกที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 2565 งบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ได้เริ่มการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายอย่างจริงจังคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,000 ล้านบาท เป็นช่วงที่เริ่มเห็นการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายของเรามากขึ้น และประชาชนสามารถเข้าไปดูสิ่งที่เราทำได้ทางเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th” นายชัชชาติ กล่าว
● 5 เรื่องหลัก ที่ทำต่อเนื่อง
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับช่วงแรกมี Key Driver 5 เรื่องหลักที่ได้ทำ คือ 1.การให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย โดยไม่ได้ละเลยเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นว่ากรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย หากทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็งได้ จะทำให้ทั้ง 2 ส่วนทำงานไปด้วยกันได้
2.การเปลี่ยน Mind set ข้าราชการ โดยใช้ People Centric คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หันหน้าหาประชาชน ตอบสนองประชาชนตลอดเวลา ทำให้เป็นหัวใจหลักในการทำงานและผู้บริหารต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง
3.Technology Driver คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยน เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Open Data การเปิดเผยข้อมูล การให้ใบอนุญาตออนไลน์ การให้บริการ Telemedicine เป็นต้น ซึ่งเห็นผลชัดเจน อนาคตต่อไปจะไม่หวนกลับไปในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ประชาชน
4.เรื่องของความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนฝากให้ตั้งแต่เริ่มแรก การเปลี่ยน Mind set ผู้บริหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่เก็บส่วย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความโปร่งใส
5.สร้างภาคีเครือข่าย เพราะปีแรกเราไม่มีงบประมาณอะไรเลย มีเพียงความร่วมมือจากชุมชน หอการค้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้จึงเกิดจากภาคีเครือข่ายทำให้เมืองขับเคลื่อน และคาดว่าภาคีเครือข่ายจะร่วมขับเคลื่อนกทม.ต่อไปในปีที่ 2-4 ด้วย

● 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย เดิม สู่ 9 ด้าน 9 ดี 226 นโยบาย ใหม่
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายของกรุงเทพมหานคร จาก 9 ด้าน 9 ดี เดิม ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เรียนดี และบริหารจัดการดี ซึ่งประกอบด้วย 216 นโยบาย ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานจริง และตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขื้น เป็น 9 ด้าน 9 ดี ใหม่ ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โปร่งใสดี (ใหม่) สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เรียนดี เศรษฐกิจดี สังคมดี (ใหม่) และบริหารจัดการดี รวม 226 นโยบาย โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย ส่วน 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นนโยบายที่ต้องมีการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น และมี 4 นโยบายยุติการดำเนินการ เช่น นโยบายห้องให้นมเด็ก ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใช้บริการเนื่องจากประชาชนไม่นิยมมีบุตร นโยบายรถห้องสมุดเคลื่อนที่ลงไปถึงชุมชน เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่ถนนเล็ก จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดออนไลน์ เป็นต้น
● ติดตามความคืบหน้านโยบายออนไลน์ได้ที่ openpolicy.bangkok.go.th
สำหรับทุกนโยบายจะมีการนำขึ้นเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ปัญหาอุปสรรคอย่างไร โดยช่วงปีแรกนั้นเป็นเรื่องของการทำ Sandbox กับ Prototype เนื่องจากในหลายมิติ เช่น การศึกษา สาธารณสุข เราไม่สามารถนำนโยบายใหม่ไปปฏิบัติทั่วทั้งกรุงเทพฯ ได้ เพราะว่าถ้าเกิดความผิดพลาดจะมีผลกระทบที่รุนแรง ฉะนั้น หลักการของการทำ Sandbox คือทำต้นแบบเล็ก ๆ ก่อน เช่น เลือก 1 โรงเรียน หรือเลือกคลัสเตอร์ของสาธารณสุข อาทิ ราชพิพัฒน์โมเดล ดุสิตโมเดล เป็นต้น ปีแรกจึงเป็นปีของการทดสอบแนวคิด ส่วนปี 2 ปี 3 จะเป็นเรื่องของการขยายผลแนวคิดที่สำเร็จ เช่น Chrome Classroom จะมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนมากขึ้น ราชพิพัฒน์โมเดลก็ขยายเป็น Bangkok Zoning เป็นต้น

● ไม่ทิ้งเส้นเลือดใหญ่ โดยสานต่อโครงการเดิมและผลักดันโครงการใหม่
นายชัชชาติ กล่าวว่า หลายท่านอาจจะมองว่าทีมงานนี้ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ ต้องเรียนว่า จริง ๆ แล้ว โครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี และผลงานที่นำมาแถลงวันนี้เป็นผลงานของกทม. หลายเรื่องทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ท่านผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งเป็นการวางแผนมาต่อเนื่อง ฉะนั้น โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เรายังมีการสานต่อ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโรงพยาบาลกลาง 4 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลบางนาฯ 3 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน 4.9 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 8.2 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด 2.2 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง 1.66 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกายช่วงที่ 2 ประมาณ 9 ร้อยล้านบาท โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก 7 ร้อยล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน 14,804 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเงิน 48,380 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเทา 29,130 ล้านบาท รวมถึงยังมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงการเริ่มใหม่ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย 5.5 พันล้านบาท โครงการต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 กับ 4 ประมาณ 1.3 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ถนนนิมิตใหม่ 3 พันล้านบาท โครงการกําจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขยะ 1,000 ตันต่อวัน 4.4 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ 2 พันล้านบาท