ประวิตร ร่ายจดหมาย หัวใจใหญ่พอ ก้าวข้ามความขัดแย้ง
ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์จัดหมายอีกฉบับ หัวใจใหญ่พอ ก้าวข้ามความขัดแย้ง
วันที่ 15 มี.ค.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยแพร่จดหมายผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ดังนี้
ประเทศไทยของเรานั้นเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือการปกครองด้วยเสียงข้างมาก กล่าวคือผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ก็จะถือว่า เป็นมติของประชาชน อันจะส่งผลให้ผู้สมัครท่านนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากพรรคใดรวมเสียงข้างมากได้ก็จัดตั้งรัฐบาลในสภา ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในหลักการแล้ว นับได้ว่า สภานี้เป็น “สภาของประชาชน” ไม่ใช่เป็น “สภาของนักการเมือง”
เมื่อสภาเป็นของประชาชน การใช้เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในความเห็นต่าง บนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่นับว่าเป็นความขัดแย้งความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการใช้มติของเสียงข้างมากในสภาบนผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วก็ไปอ้างว่าเป็นมติพรรค จึงไปฝืนความรู้สึกของ มติประชาชนที่เห็นต่าง
และมีการทักท้วงจากสื่อและสังคมในกรณี ที่ขัดแย้งกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สภาก็ไม่ฟังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า สภาไม่ใช่เป็นของประชาชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสภาของนักการเมือง จะเอาเป็นที่พึ่งต่อไปไม่ได้แล้ว และประชาชนก็ตัดสินใจออกมาต่อต้าน มติของสภาและขับไล่รัฐบาล โดยไม่คิดแก้ไขตามกลไกของประชาธิปไตยคือ รอให้มีการเลือกตั้ง
จึงทำให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤติที่ทำให้ฝ่ายทหารต้องนำกำลังออกมาเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้งหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ทีมงานพยายามอธิบาย ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ผมฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากภายในสภาแต่มาจบกันนอกสภา
หลังจาก “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ควบคุมอำนาจได้แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้ง เมื่อการได้อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ในทางตรงข้าม “ฝ่ายประชาธิปไตย” แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสมอ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาควบคุมจากกลไกที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ต่อโครงสร้างอำนาจของประชาชน
เมื่อประเทศต้องอยู่ในสถานะที่ “ผู้ล้มเหลวทั้งสองฝ่าย” ต่างก็ผลัดเข้ามาควบคุมอำนาจอาการหมดสภาพที่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา นโยบายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ผู้นำทั่วโลกของแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ ในช่วงเวลานั้นๆ การเมืองไทยก็เช่นกัน
.
นโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละพรรค การเมืองที่ต่างก็กำลังเสนอออกมาในขณะนี้ นับได้ว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะกลั่นกรอง มาจากบุคลากรชั้นนำของแต่ละพรรค
แต่เป็นที่น่าเสียดายหากนโยบายเหล่านั้นจะไม่ได้รับการนำไปใช้เพราะ ต้องไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ผมตั้งใจว่าเมื่อ พรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้
นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี “ผู้ชนะเด็ดขาด” “ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ”
ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า “ผมพูดไม่เก่ง” แต่ “ผมมีหัวใจ” หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
วิธีที่ผมคิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ “ประชาชนเสียงส่วนใหญ่” ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้น เพียงแต่ว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมมีบทบาท”
เคารพใน “เสียงส่วนใหญ่” แต่ “เปิดใจรับฟังเสียงส่วนน้อยที่มีความรู้ ความสามารถด้วยเจตนาดีต่อความเป็นไปของประเทศ”
ที่ผมอยากจะย้ำ คือ “ขอให้เชื่อผม เหมือนที่ผมเชื่อตัวเอง” ว่า “ผมทำได้ เพราะหัวใจผมใหญ่พอ” มา “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”ไปด้วยกัน“เราจะอยู่กับความเห็นต่างที่มีมากด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่เห็นชอบกับสิ่งที่ตนเองคิด” และจะคอยรับฟังการรายงานข้อสรุป ที่เป็นประโยชน์ โดยมีหลักคิดอยู่ในใจว่า “ปัจจุบันคือแก้ไขอดีตที่ล้มเหลว เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า”
และนี่คือ สิ่งที่นักการเมืองหลายท่านกำลังทำ ด้วยหลักคิดเดียวกันคือการย้ายพรรค จากฝ่ายรัฐบาล ไปสู่ฝ่ายค้าน หรือจากฝ่ายค้านไปสู่รัฐบาล ซึ่งท่านคงมองถึงอนาคตที่ดีกว่า และก็คงทำต่อไปแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์
8 ปีที่ผ่านมาสอนให้ผมเรียนรู้และได้คิดว่า อะไรที่ดีกว่าเดิม เพื่อจะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำและจะต้องทำด้วยวิธีคิดใหม่ๆ เพราะการที่จะคิดอยากได้สิ่งใหม่ๆ โดยใช้วิธีเดิมๆนั้นไม่น่าจะได้ผล ส่วนที่ผมคิดจะถูกหรือจะผิด ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน