ครม.เห็นชอบ ‘โคล้านครอบครัว’ ปล่อยกู้ เลี้ยงวัว 2 แสนตัว ทั่วไทย
ครม.เห็นชอบโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมอาชีพ แก้ไขปัญหาความยากจน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน
วันที่ 14 มี.ค.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐจะชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ภายในวงเงิน 600 ล้านบาท โดยในปีแรกให้ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้กับสถาบันการเงิน ภายในวงเงิน 200 ล้านบาทและงบบริหารโครงการ ภายในวงเงิน 150 ล้านบาท และให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงินในปีที่ 2-4 ภายในวงเงิน 400 ล้านบาท รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
-กลุ่มเป้าหมาย : กองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 79,610 กองทุน
-วงเงินโครงการ : (1) วงเงินสินเชื่อ จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยใช้วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ร้อยละ 100 ให้สมาชิกกู้ยืมครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน (เลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว) (2) วงเงินบริหารโครงการ จำนวน 150 ล้านบาท
-ระยะเวลากู้ : ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 4 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา
อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคาร เรียกเก็บ : ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านฯ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี
– กองทุนหมู่บ้านฯ ชำระคืนเงินกู้ให้สถาบันการเงินให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี – กองทุนหมู่บ้านฯ ชำระคืนเงินต้นปีที่ 3 ร้อยละ 50 ของวงเงินที่กู้ยืม
และชำระคืนเงินต้นที่เหลือในปีที่ 4 ซึ่งกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถชำระคืน เงินต้นก่อนกำหนดได้
-เงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่สมาชิก : กองทุนหมู่บ้านฯให้สินเชื่อกับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0 ต่อปี – สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ชำระคืนเงินต้นให้กองทุนหมู่บ้านฯ ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 4 ปี ในปีที่ 3 ให้ชำระคืนเงินต้นร้อยละ 50 ของวงเงินที่กู้ยืม และชำระคืนเงินต้นที่เหลือ ในปีที่ 4 ทั้งนี้ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนดได้ – กองทุนหมู่บ้านฯสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากสมาชิกที่กู้ยืมได้ตามที่กองทุนหมู่บ้านฯ กำหนด
-การชดเชย : รัฐชดเชยให้กับสถาบันการเงินตามต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริง(ในอัตรา ร้อยละ 4 ต่อปี) ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท
– วิธีการดำเนินการ : กองทุนหมู่บ้านฯต้องนำหลักฐานการขอสินเชื่อจากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จาก ธ.ก.ส.
– ระยะเวลาดำเนินโครงการ : กองทุนหมู่บ้านฯ ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมสัญญากับสถาบันการเงินให้แล้ว เสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงกำหนดก่อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการโคล้านครอบครัว จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ที่สำคัญคือมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามเจตนารมย์ของกองทุน ฯ ด้วย