“มัลลิกา” ค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ ไล่กลับไปทบทวน
“มัลลิกา” ติง ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ ไล่เอากลับออกไปทบทวน ข้องใจที่มาคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
วันที่ 7 ก.พ.66 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่เห็นได้ชัดคือสมาคมนักข่าวและโทรทัศน์ไทย ออกมาคัดค้านกฎหมายนี้และเรียกว่ากฎหมายควบคุมสื่อ ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ออกแถลงการณ์เสนอให้ถอนร่างนี้ออกไปและให้เอาไปชี้แจงต่อสาธารณะเสียก่อนด้วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่และสมาชิกจำนวนมากแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการไม่เข้าร่วมประชุม ส่วนด้านนอกสภาก็มีการออกแถลงการณ์ ก็ชัดเจนว่าการนำเสนอกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องนำไปสู่ความขัดแย้งและเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่ตกผลึกทางความคิด ที่สำคัญที่สุดคือใช้เวลาร่างที่ยาวนานขณะที่บริบทของสังคมและบริบทของสื่อและนวัตกรรมของสี่อก็เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว” น.ส.มัลลิกา กล่าว
น.ส.มัลลิกา กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายแสดงความห่วงใยเรื่องนี้รวมทั้งตนด้วยเพราะในฐานะที่เคยประกอบวิชาชีพนักสื่อสารสื่อมวลชน ก็มีความกังวลประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชนและทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตรงจุดนี้คือเกียรติยศของนักสื่อสารมวลชนและจุดนี้เองที่เรียกว่าจริยธรรมคุณธรรมแต่ในกฎหมายไม่สามารถนิยามสาระสำคัญนี้ได้ จึงไม่แปลกใจที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชนจะไม่ยอม
โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะร่าง พ.ร.บ.ระบุในบทเฉพาะกาลให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการในวาระเริ่มแรกรวมทั้งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ทุนประเดิมและจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย รวมถึงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ที่มาเหล่านี้ล้วนจะนำไปสู่การเข้าควบคุมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจึงเห็นว่าอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งควรจะนุติและกลับไปทบทวน
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคณะรัฐมนตรีในชุดปัจจุบันด้วยเช่นกันอันเนื่องมาจากว่ากฎหมายฉบับนี้ร่างมาตั้งแต่ปี 2560 คือก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้วร่างมาต่อเนื่องทะลุมิติจนถึงรัฐบาลนี้ ขณะที่ผู้รับผิดชอบหลัก คือ นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เซ็นเสนอมาตอนที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี