“เพื่อไทย” ห่วงแก๊งต้มตุ๋น-อาชญากรรมไซเบอร์ดูดเงินประชาชน
จุฑาพร ชี้ อาชญากรรมไซเบอร์พุ่งต่อเนื่อง ทั้งจำนวนคดีและมูลค่าความเสียหาย ห่วง ประชาชนหลงเชื่อ ได้รับความเดือดร้อน ถูกหลอกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี แนะ รัฐต้องร่วมมือหลายภาคส่วน แก้ปัญหาให้ตรงจุด ลดทอนความเสียหายในอนาคต
นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวในการเสวนา “เพื่อไทยมา ปัญหาโจรไซเบอร์ต้องจบ” ที่พรรคเพื่อไทยว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในสังคมยุคดิจิตัล เพราะไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งผลไปยังภาคเอกชน และตัวบุคคลด้วย และนับวันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 เผยว่า ชาวไทยกว่า 50% เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ระหว่างช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
โดยจากสถิติการแจ้งความในช่วงเดือนมี.ค. 2565 ถึง ม.ค. 2566 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เป็นคดีออนไลน์กว่า 187,299 คดี จาก 207,679 เรื่องทั้งหมด โดย 5 อันดับแรกที่พบมากสุด คือ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้า (32.95%) 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม (13.87%) 3. คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (11.6%) 4. หลอกลวงทางโทรศัพท์แกงค์คอลเซ็นเตอร์ (8.72%) 5. หลอกให้ลงทุน (8.20%) รวมมูลค่าความเสียหาย 29,244,246,369 บาท และมีแนวโน้มที่คดี รวมทั้งมูลค่าความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยในระยะสั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนควรมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้แต่ละกลุ่มประชากร รู้เท่าทัน ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อลดโอกาสตกเป็นเหยื่อ และต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะยาว คงจะต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (law enforcer) อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากภาคธนาคาร ซึ่งถือเป็นผู้มีฐานข้อมูลบัญชี (Database Account) หากได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเปิดบัญชีม้า ให้ทำการอายัดบัญชีได้ทันท่วงที โดยการฟรีซบัญชีม้าไว้ ก่อนที่เงินจะถูกโอนออกนอกประเทศ หรือถูกโอนเป็นสกุลเงินดิจิตัลได้ นอกจากนี้ หน่วยงาน กสทช. จะสามารถเข้ามาป้องกันและปราบปรามการโกงทางไซเบอร์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันการอายัดเงินยังทำได้ค่อนข้างยากมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะติดปัญหาในเรื่องของการขอข้อมูลแต่ละคดี บางคดีขอข้อมูลต้องทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารต่างๆ ตามเส้นทางการโอนเงิน ซึ่งทำให้เสียเวลา จึงต้องจัดตั้งกองปราบโกงออนไลน์ ที่มีอำนาจจัดการการโกงมากขึ้น ขจัดอุปสรรคขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ทันอาชญากร ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่ายิ่งนาน โอกาสได้เงินคืนจะยิ่งลดน้อยลง
ดังนั้น การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและตามให้ทันอาชญกรทางไซเบอร์ที่พยายามเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นเพื่อปกป้องประชาชนอย่าได้หลงตกเป็นเหยื่อจนต้องสูญเสียเงินทองและทรัพย์สิน และได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก