“สมคิด” โชว์วิสัยทัศน์แนะแก้เศรษฐกิจถดถอยด่วน

“นายสมคิด” รับเทียบเชิญเด็กมรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โชว์วิสัยทัศน์ “เตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจไทยในยุค New Normal” ชี้ ทางรอดต้องรื้อระบบงบประมาณรวมศูนย์กระจายสู่ท้องถิ่น ปรับโมเดลเศรษฐกิจ ชูพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานมหภาค แนะปรับระบบการศึกษารับมือโลกดิจิทัล ย้ำโลกเปลี่ยนไทยต้องตามให้ทัน มองประเทศยังมีโอกาสในวิกฤต

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อ “เตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจไทยในยุค New Normal” ในงานสัมมนาวิชาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีนักศึกษาและบุคลากรเข้าร่วมรับฟังการบรรยายจำนวนกว่า 500 คน
โดยนายสมคิด กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า New Normal เป็นสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปจากโลกในอดีตเดิม ซึ่งยังไม่มีท่าทีจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม และรอการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับ 3 สถานการณ์สำคัญ คือ
1. โลกที่กำลังหลุดออกมาจากระเบียบโลกเก่า แต่ยังหาระเบียบโลกใหม่ไม่เจอ มีแต่ความไม่แน่นอนและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จากปัจจัยสำคัญได้แก่ โลกเก่าที่ถูกจัดระเบียบโดยสหรัฐอเมริกา ทั้งเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ การค้า ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อเมริกาเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอเมริกันเฟิร์ส คืออเมริกาต้องมาก่อน ต้องเข้มแข็ง และต้องได้ประโยชน์มากสุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความร่วมมือของแนวร่วมทั้งนาโต้, G20, G7, WTO และธนาคารโลก ซึ่งทำให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและภาวะเงินเฟ้อ
2. เศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างขาลง จากผลกระทบสถานการณ์โควิด และสงครามรัสเซีย ยูเครนไม่มีแววสิ้นสุด
3. ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางแห่งความเสื่อมถอย หากไม่รีบแก้ปัญหานี้ ประเทศไทยจะลำบาก วันนี้เราเสียเวลาไปมากแล้ว ถ้าไม่แก้ตอนนี้การฟื้นตัวจะลำบาก แต่ถ้ารีบแก้ ยังมีโอกาสฟื้นตัวในวันข้างหน้า แต่อย่าคาดหวังว่าจะฟื้นตัวในระยะสั้น เราต้องยอมรับความจริง จาก 5 ปัจจัยสำคัญในประเทศ คือ
1.เราอยู่ในช่วงเวลาของ slow growth ซึ่งจะไม่มีทางได้เห็นเศรษฐกิจที่โตเร็วเป็นไปได้ยาก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่โต 3-3.5 เปอร์เซ็นต์วัดจากฐานในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบ 3-4 ปีที่แล้ว เนื่องจากจีดีพีของประเทศต่ำลงเรื่อย ๆ ไล่จาก 4-5 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 2-1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์บวกลบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก
2. ความไม่เท่าเทียมในสังคมที่สูงในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด แต่กลับมีข้อจำกัดทางการทำมาหากินในพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการสาธารณสุขที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนอีสานต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น เกิดภาวะครอบครัวแตกแยก ขาดคนดูแลคนสูงวัย อีกทั้งยังประสบปัญหาค่าแรงต่ำจากระบบทุนนิยม

3. ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ถดถอย เนื่องจากขาดการเตรียมพร้อมทั้งระบบการศึกษาที่ทันต่อสถานการณ์โลก การพัฒนาระบบเทคโนโลยี และนวัตกรรม แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือเรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามเราตามเขาไม่ทัน เพราะเขามีเป้าหมายที่ชัดเจน และวางระบบการพัฒนามากว่า 10 ปีแล้ว โดยเขามุ่งเน้นการพัฒนาคน 4 ด้าน คือวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป้าหมายการเข้าสู่อุตสาหกรรมไฮเทค เศรษฐกิจดิจิทัล เอไอ และบิ๊กดาต้า อย่างไรก็ตาม โอกาสการแข่งขันของประเทศยังมีอยู่ แต่ต้องสร้างระบบสิ่งแวดล้อมให้ดี มีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา
4. ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการดูแลสังคมสูงวัยให้มีความสมดุลในการใช้ชีวิต การสร้างคุณค่าให้กับคนสูงวัย ไม่ใช่แค่การให้เงิน ซึ่งสังคมไทยเหมาะกับระบบครอบครัวใหญ่แบบดั้งเดิม ไม่ใช่การเลียนแบบประเทศตะวันตกที่แต่งงานแล้วแยกครอบครัวไป เพราะเขามีสวัสดิการดูแลคนสูงวัยที่ดี ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี
5. เรื่องสิ่งแวดล้อมโลก ที่ขณะนี้มีการประชุม COP 27 ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมมีทั้งผลกระทบและโอกาสที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเฉพาะโอกาสจากนโยบาย BCG หรือ Bio – Circular – Green Economy ที่ประเทศไทยกำลังโปรโมทอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบด้านการเกษตร ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ กรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ทั้งนี้จากปัญหาวิกฤตดังกล่าว นายสมคิดมองว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวได้ต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญ ดังนี้
1.การรื้อระบบงบประมาณใหม่ ที่ปัจจุบันมีการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ขึ้นอยู่กับกระทรวง รัฐมนตรี และพรรคการเมือง สู่การกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น
2. ปรับโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการให้น้ำหนักเศรษฐกิจมหภาคหรือ Macro เป็นการพัฒนาคู่ขนานเศรษฐกิจชุมชนหรือ Micro มุ่งเน้นการพัฒนารายภูมิภาคให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ โดยตนมองว่าภายใต้วิกฤตโควิดคือโอกาสของท้องถิ่นที่จะเติบโตทั้งด้านเกษตรอินทรีย์ พลังงานชุมชน และการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจรายภูมิภาค ที่สำคัญต้องกระจายให้ท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งทุน
และ 3. สร้างระบบการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ใช้อินเทอร์เน็ตส่งเสริมการศึกษาให้เข้าสู่ชุมชน ให้เข้าถึงคนจนยกระดับคุณภาพการศึกษาอาชีพทักษะการทำมาหากินให้คนในท้องถิ่นเพราะระบบการศึกษาปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนสามารถหาความรู้ได้จากระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนหรือมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกด้วย

“โลกใหม่ที่ท่านจะเจอคือความลำบากจะมีมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ไม่ได้ เราไม่ประมาท ต้องพร้อมเผชิญ แต่รู้แน่ๆ ว่าโหมดการพัฒนาประเทศต้องเปลี่ยน ต้องให้มีสมดุลมากขึ้นระหว่างการพึ่งพาภายนอก ทั้งเรื่องการส่งออก ท่องเที่ยว กับการพึ่งพาภายในคือท้องถิ่น จังหวัด ปัจเจกบุคคล ชุมชน การทำให้ประเทศแข่งขันได้มากขึ้น หรือส่งออกได้มากขึ้นต้องลงทุนจริง ๆ อีอีซีจบไม่ได้ ต้องให้เกิดให้ได้ ขนาดเกิดขึ้นมาแล้วยังไม่รู้เลยว่าจะสู้กับเขาได้หรือไม่ หากไม่เกิดจะไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่าประเทศไทยจริงจังกับสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันเมื่อเริ่มเน้นท้องถิ่น หัวใจอยู่ที่ชุมชน ต้องช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งมีงบประมาณ มีสินเชื่อ หากชุมชนเข้มแข็งจะสามารถยกระดับการผลิตในชุมชนได้ การแก้ปัญหาแหล่งน้ำ โรงสีชุมชน โอทอป ดูแลผู้สูงวัยและเด็กในชุมชน อย่าคิดแค่เรื่องสวัสดิการ ชุมชนก็จะเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ สุดท้ายการเมืองก็จะต้องดี ถ้าการเมืองดี ประเทศก็จะดีตามไปด้วย” นายสมคิด กล่าว