‘ศิริกัญญา’ ชำแหละรัฐบาลเอื้อผูกขาด ควบรวมทรู-ดีแทค
‘ศิริกัญญา’ ถามรัฐบาลทำเต็มที่แล้วหรือยังป้องกันดีลควบรวมผูกขาดทรู-ดีแทค ทำค่าบริการพุ่ง ประชาชนสงสัยไม่ทำอะไรเลยเพราะท่านได้ประโชน์จากดีลนี้ใช่หรือไม่
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.65 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเศรษฐกิจผูกขาด โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) เป็นผู้ตอบแทน พล.อ.ประยุทธ์
โดย น.ส.ศิริกัญญา เกริ่นนำว่า ผลการศึกษาการควบรวมทรู-ดีแทค ออกมาแล้วจาก 5 หน่วยงาน ทั้งจากหน่วยงานที่ทรู-ดีแทค จ้างศึกษา มีทั้งสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา รวมถึงคณะอนุกรรมการของ กสทช. เอง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขั้นต่ำคือ 10% แต่ถ้าการควบรวมนี้มีการฮั้วกันก็จะทำให้ค่าบริการยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยคณะอนุกรรมการของ กสทช. เองศึกษาแล้วพบว่าค่าบริการจะพุ่งสูงขึ้นถึง 49-200% หมายความว่าถ้าทุกวันนี้เราจ่ายค่ามือถือและอินเตอร์เน็ตอยู่ 100 บาท อาจจะต้องจ่าย 150-300 บาท แบบนี้กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างเต็มที่ ซ้ำเติมเงินเฟ้อที่ยังขึ้นไม่หยุดด้วย แล้วประชาชนและธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้จะพัฒนากันต่อได้อย่างไร
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนเอกทราบดีว่าเป็นหน้าที่กำกับดูแลโดย กสทช. แต่ในฐานะรัฐบาล ท่านได้ศึกษาประเมินบ้างหรือไม่ว่ามูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่กี่พันล้านบาท งานของประชาชนคนไทยจะหายไปกี่ตำแหน่ง และถ้าผลกระทบมากขนาดนี้ ท่านคิดว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ ที่มีอยู่นั้นพอหรือไม่ที่จำเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
“ดังนั้น เรายังไม่มีความเชื่อใจ มั่นใจ ว่า กสทช. จะกำกับราคาได้เลย วันนี้เราหวังว่าให้ควบรวมไปก่อนแล้วค่อยไปกำกับดูแลราคาทีหลัง มันไม่ได้“
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อมีการดีลใหญ่เกิดขึ้นแบบนี้ รัฐบาลทั่วโลกก็จะมีบทบาทนำมาโดยตลอด เช่นการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมที่แคนาดาก็เป็นรัฐบาลเองที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการควบรวมในครั้งนั้น แม้สุดท้ายบริษัทจะยอมคลายคลื่นและยอมผ่านดีลในที่สุด และมีอีกหลายกรณีที่ดีลไม่ผ่านเลยเช่นกรณีของ AT&T และ T-mobile ของสหรัฐฯ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลเข้มแข็งมาก
ต้องยอมรับว่าในหลายครั้ง ต้องเป็นบทบาทและนโยบายของทางรัฐบาลในการเจรจาดึงดูดนักลงทุน แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น นี่คือนโยบายจากทางรัฐบาลทั้งสิ้น และทุกประเทศก็ทำกัน เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวกลางและใส่เงินในการเจรจาควบรวมบริษัทผลิตชิปภายในประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการผูกขาดในประเทศ แต่เพื่อความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะไปแข่งในตลาดโลก
ดังนั้น ตนเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีบทบาทนำในประเด็นนี้มากขึ้น ทางเลือกที่เหลืออยู่ หากจำเป็นจะต้องหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาแทนดีแทคที่จะถอนหรือลดการลงทุนจากภูมิภาคนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ
1.ให้รัฐวิสาหกิจมาเทคโอเวอร์ เช่น NT (แต่ตนไม่สนับสนุนแนวทางนี้)
2.ดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศรายใหม่ ก็เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงว่าจะเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมหรือไม่
“คำถามสำคัญก็คือ รัฐบาลได้ใช้อำนาจใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและนำพาประเทศพ้นวิกฤตครั้งนี้
แล้วท่านจะตอบกับประชาชนอย่างไรเมื่อพวกเขามองว่าท่านไม่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการควบรวมผูกขาดครั้งนี้ และเขาตั้งข้อสงสัยว่าท่านไม่ทำอะไรเลยจากการดีลควบรวมในครั้งนี้ เพราะท่านได้ประโยชน์ดีลผูกขาดนี้เช่นกัน” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) ตอบว่ารัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันอย่างเสรีอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าเอกชนสองรายจะฮั้วกัน รวมทั้งรัฐบาลไม่มีอำนาจในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกำกับดูแลกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่นโยบายของรัฐบาลคือให้มีการแข่งขัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร