แถลงผลงาน 30 วัน ผู้ว่าฯชัชชาติ เน้นโปร่งใส ประสานงาน
แถลงภาพรวม 30 วัน ของผู้ว่าฯ กทม. เน้นเรื่องความโปร่งใส การประสานงาน การสื่อสารภายใน และให้ทุกคนร่วมมือกันสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่
(7 ก.ค. 65) เวลา 10.00 น. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน” โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาววิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลง ณ บริเวณชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายเอกวรัญญู เปิดเผยว่า จากการทำงานกว่า 30 วัน ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติ ใช้วิธีการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กขณะลงพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้เห็นว่าผู้ว่าฯ ทำงานอย่างไรบ้าง และประชาชนทุกคนจะได้เห็นปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งข้อดีคือหลาย ๆ ครั้งปัญหาถูกแก้ในทันทีโดยไม่ต้องมีการสั่งการ
สำหรับ “30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน” จะแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วย เรื่องแรก 216+ นโยบาย เรื่องที่สอง 4 นโยบายเร่งด่วน เรื่องที่สาม ความโปร่งใส และเรื่องที่สี่ การประสานงาน
● 216+ นโยบาย:
โดยเรื่องแรก 216+ นโยบาย ได้มีการนำนโยบายที่จำเป็นต้องใช้เงินผูกเข้ากับโครงการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะอยู่ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ของ กทม. เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากนโยบายไม่สามารถผูกเข้ากับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ได้ ก็จะไม่สามารถผลักดันได้เพราะไม่มีงบประมาณ ปัจจุบันได้นำนโยบายผูกเข้ากับงบประมาณปี 65 และ 66 เพื่อจัดทำร่างงบประมาณที่ให้ประชาชนได้เห็นทางออนไลน์ โดยวันนี้เป็นวันที่ 2 ที่สภากรุงเทพมหานครกำลังพิจารณากันอยู่ ซึ่งการผลักดัน 216+ นโยบาย ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้วในระยะเริ่มต้น
● 4 นโยบายเร่งด่วน:
เรื่องที่สอง คือ 4 นโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนที่ 1 การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีหลายนโยบาย เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ โดยพื้นที่กทม. มีความยาวท่อระบายน้ำ 6,564 กม. ปีงบประมาณนี้มีเป้าหมายขุดลอกท่อ 3,390.43 กม. ปัจจุบันดำเนินการลอกท่อแบ้ว 2,387 กม. หรือคิดเป็น 70.4% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค. 65) ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะได้ความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ด้วย โดยครั้งแรกกรมราชทัณฑ์ได้ขุดลอกท่อบริเวณห้วยขวาง และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 65 เพิ่มมาอีก 10 จุด อาทิ ถนนพหลโยธิน ถนนศรีนครินทร์ ถนนนวมินทร์ ถนนลาดพร้าววังหิน ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนอังรีดูนังต์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ พนักงานรักษาความสะอาดของเขตก็เป็นอีกส่วนที่คอยดูแลตั้งแต่ต้นทาง โดยมีการเก็บขยะหน้าตระแกรง เพื่อไม่ให้ท่อระบายน้ำอุดตันด้วย
นโยบายเร่งด่วนที่ 2 ความปลอดภัยบนท้องถนน เริ่มต้นด้วยทางม้าลาย กรุงเทพมหานครมีทางม้าลายจำนวนทั้งสิ้น 2,591 จุด สำรวจแล้วมีปัญหา 1,620 จุด โดยจะติดตั้งสัญญาณไฟแจ้งเตือน 80 จุด แบ่งเป็น ไฟทางข้าม 30 จุด และไฟกระพริบ 50 จุด ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 65 ส่วนเรื่องสีของทางม้าลาย ความชัดเจนต่าง ๆ สำนักการจราจรได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 743 จุด
ในส่วนของโครงการเทศกิจ School Care ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่กทม.มีอยู่แล้ว โดยมีการดูแลโรงเรียนอยู่ทั้งสิ้น 346 แห่ง เป็นโรงเรียนของกทม 261 แห่ง ที่เหลือคือโรงเรียนสังกัด สพฐ. และเอกชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 65 ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้เพิ่มเทศกิจ School Care ให้ครบทุกโรงเรียนในสังกัดกทม. (437 โรงเรียน) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดูแลความปลอดภัยเวลานักเรียนข้ามถนน
ต่อมาคือเรื่องพื้นผิวการจราจร กทม.ได้ใช้วิธีการประสานงานหลายภาคส่วน อาทิ บริเวณถนนพระราม 3 ถนนวิทยุ ฯลฯ ได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง เปลี่ยนแผ่นฝาบ่อพักสายไฟฟ้าใต้ดินให้ใหญ่ขึ้น เรียบขึ้น ขณะเดียวกันได้มีการเร่งรัดการก่อสร้างและคืนพื้นผิวการจราจร เช่น แยกลำสาลี ท่าพระ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาทางเท้า ได้มีการสำรวจไว้แล้ว และยังรับปัญหาเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อเร่งแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดและรวดเร็ว
ด้านการจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดระเบียบสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออก ตั้งเป้าปีแรกที่ 800 กม. และให้คณะผู้บริหารติดตามอย่างใกล้ชิด
ในเรื่องหมวกกันน็อก กทม.ได้รับความร่วมมือจากสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สนับสนุนหมวกกันน็อกสำหรับนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประมาณ 120,000 ใบ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบให้เด็กอยากใส่
นโยบายเร่งด่วนที่ 3 หาบเร่-แผงลอย และ Hawker Center ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายมิติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องการจัดระเบียบเมือง เดิมมีหาบเร่-แผงลอย 55 จุด ที่ประกาศอย่างถูกกฎหมาย บชน.เห็นชอบเพิ่มอีก 31 จุด อยู่ระหว่างเสนอ บชน. ทบทวนให้ความเห็นชอบ 9 จุด นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่การค้าเพิ่มเติม จากการสำรวจพบว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ 198 จุด เป็นพื้นเอกชน/สถานที่ราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 124 จุด โดยนโยบายมีจุดมุ่งหมายให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการรายเล็ก มีพื้นที่ทำมาหากิน และจัดระเบียบผู้ค้าที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ให้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ กทม.ได้มีมาตรการลดราคาค่าเช่าแผงค้าของสำนักงานตลาด กทม. และปรับลดดอกเบี้ยของสำนักงาน สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) โดยลดค่าเช่าแผง 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. – ก.ย. 65 ในตลาด กทม. 12 แห่ง และลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำ กทม. ตามราคากู้ยืม
นโยบายเร่งด่วนที่ 4 สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ประชุมหารือล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ก.ค. 65 เรื่องสัญญาจ้างเดินรถและข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นสัญญาสัมปทานและค่าโดยสาร สรุปผลการหารือดังนี้ 1. สัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง บอร์ดมีมติให้เริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 เพื่อนำรายได้มาจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ 2. การเปิดเผยสัญญาสัมปทาน ผู้ว่าฯ กทม. มีความเห็นว่าประชาชนมีสิทธิ์ได้รับทราบข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้สามารถพิจารณาค่าเดินรถที่เหมาะสมได้ต่อไป
● ความโปร่งใส:
เรื่องที่สาม ความโปร่งใส Open Bangkok คือการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ กทม.มีนโยบายเปิดเผยร่างงบประมาณให้ทุกคนได้เห็น โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ กทม. official.bangkok.go.th ซึ่งจะเห็นร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 79,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร
● การประสานงาน:
ในส่วนของการประสานความร่วมมือ ได้มีการร่วมมือกับภาครัฐอย่างน้อย 29 หน่วยงาน ภาคเอกชนอย่างน้อย 15 หน่วยงาน ถ้าการศึกษา/วิจัยอย่างน้อย 8 หน่วยงาน ภาคประชาสังคมอย่างน้อย 5 หน่วยงาน และต่างประเทศอย่างน้อย 14 ประเทศ อาทิ การร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น เพื่อให้ทุกโครงการมีความโปร่งใส
ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ ต้นไม้ล้านต้น กทม.ตั้งเป้าว่าสิ้นปีจะได้ 1 ล้านต้น ขณะนี้ผ่านไป 1 เดือน ได้ความร่วมมือ 1.3 ล้านแล้ว คือได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างล้นหลาม สำหรับผู้ว่าฯ สัญจรก็เช่นเดียวกัน การที่ผู้ว่าฯ สัญจรอยู่ในการประสานงาน เพราะเวลาลงพื้นที่ต่าง ๆ ผู้ว่าฯ จะไปติดตามงาน ไปประสาน มีปัญหาอะไรก็ขอความช่วยเหลือ แล้วก็ไปลงชุมชนต่อ โดยลงไปแล้ว 3 เขต และตั้งเป้าว่าอย่างน้อย ๆ 1 สัปดาห์ต้องลง 1 เขต เพราะฉะนั้นคิดว่าจะครบ 50 เขต ในเร็ว ๆ นี้
อีกตัวอย่างคือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งเป็นการประสานงานเหมือนกัน โดยข้อมูลประจำเดือนมิถุนายน (1-30 มิ.ย. 65) เฉลี่ย 1 วันมีคนกรุงเทพฯ รายงานปัญหา 2,025 เรื่อง แต่ข้อมูลก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 65 นั้น มีการรายงานเล็กน้อยเท่านั้น ประมาณหลักพัน ซึ่งกทม.ได้รับรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า แต่การรายงานปัญหาเยอะไม่ใช่เรื่องไม่ดี นี่คือเรื่องดีที่กำลังแสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังให้ความสนใจกับเมือง ประชาชนกำลังเชื่อมั่นว่ารายงานปัญหาไปแล้วจะได้รับการแก้ไข สำหรับข้อมูลตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงปัจจุบัน 5 ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ร้องเรียนมากที่สุด คือ อันดับที่ 1 เรื่องถนน 12,264 เรื่อง อาทิ ถนนไม่เรียบ ถนนพัง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ อันดับที่ 2 เรื่องทางเท้า 4,061 เรื่อง ฟุตบาทชำรุด ฟุตบาทพัง ฟุตบาทไม่เรียบ อันดับที่ 3-5 คือเรื่องแสงสว่าง 3,231 เรื่อง ขยะ 2,559 เรื่อง และน้ำท่วม 2,389 เรื่อง ตามลำดับ ในส่วนของ 5 หน่วยงานที่รับเรื่องสูงสุด จากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 ได้แก่ สำนักการโยธา กทม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 8,023 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้ว 1,212 เรื่อง อันดับ 2 คือ เขตจตุจักร 4,766 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้ว 1,957 เรื่อง หรือประมาณ 41% อันดับ 3 สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. 3,858 เรื่อง อันดับ 4 เขตประเวศ 2,100 เรื่อง และอันดับ 5 เขตคลองเตย 1,995 เรื่อง ซึ่งเขตประเวศและเขตคลองเตยได้แก้ไขไปแล้วสูงกว่า 50% ในส่วนของความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภาพรวม ณ วันที่ 4 ก.ค. 65 แก้ไขเสร็จแล้ว 39% กำลังแก้ไข 34% ส่งต่อให้หน่วยงานอื่น 23% และสุดท้ายรอเจ้าหน้าที่รับเรื่องอีก 4%
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถส่งปัญหาผ่านระบบ Traffy Fondue ได้ โดยมีขั้นตอน 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. สแกน QR Code หรือค้นหาเพื่อนในไลน์ @traffyfondue (TraffyFondue ฟองดูว์) หรือคลิก https://landing.traffy.in.th?key=teamchadchart 2. เพิ่มเพื่อนกับ Traffy Fondue 3. กดปุ่มส่งข้อความ 4. พิมพ์รายละเอียด กดถ่ายรูป และแชร์โลเคชัน 5. เมื่อแจ้งปัญหาแล้ว ระบบจะขึ้นสถานะ “รอรับเรื่อง” และสามารถติดตามผลหรือแจ้งเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
“สรุปภาพรวม 30 วัน ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มีดังนี้ 1. เรื่องความโปร่งใส แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 2. การประสานงานเกือบ 100 หน่วยงาน เพื่ออนาคตของเมือง และ 3. การสื่อสารภายในองค์กร เพื่อลดปัญหาระบบท่อ (Pipe Line) เหมือนการทำงานของระบบ Traffy Fondue ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากทม.ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ปัญหาจะถูกแก้ได้ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกัน เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป” โฆษกของกรุงเทพมหานครกล่าว