“พิธา” ถาม “อาคม” ตอบ แผนสำรอง วิกฤตพลังงาน
“พิธา” ถาม “อาคม” ตอบ แผนสำรอง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ของแพง ค่าแรงถูก อาหาร และค่าเดินทาง
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังหนีสภาและไม่ส่งรัฐมนตรีมาตอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในสัปดาห์นี้ได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายพิธา กล่าววว่า ขณะนี้ ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ล้วงไปในกระเป๋าก็หารายได้ไม่เจอ ราคาอาหาร หรือราคาค่าเดินทาง เหมือนเป็นกำแพงสี่ด้าน ที่ค่อยๆ บีบความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้แคบลงเรื่อยๆ แถมด้วยหลังคาที่คอยกดเค้าให้เค้ารู้สึกกดดันมากเป็นประวัติการณ์
นายพิธา อธิบายต่อว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ แม้ว่าจะอยู่ในรอยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด แต่ต้องยอมรับว่า ศักยภาพการฟื้นตัวของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลและสถานการณ์ที่เจอ โดยประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับพายุใหญ่ถึง 3 ลูกด้วยกัน
“ลูกที่ 1 เป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ความยืดเยื้อของสงครามยูเครนรัสเซีย ส่งผลกระทบถึงไทยแน่ ลูกที่ 2 เป็น zero covid ของประเทศจีน แต่คิดว่าใกล้ๆนี้จะผ่อนคลายมากขึ้นและนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมา ลูกที่ 3 คือช่วงที่เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนที่สุดในรอบ 6 ปี ไม่น่าจะเป็นผลดีกับช่วงที่การเดินบัญชีดุลสะพัดติดลบ และไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศที่หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ นี่ก็คือความเร่งด่วนของปัญหา”
จากนั้น นายพิธา ได้ตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของปัญหาค่าเงินเฟ้อ 7.1% ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งสูงถึง 35% ทำให้ตอนนี้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาราคาสินค้า 3 หมวดใหญ่ (1)พลังงาน (2)อาหาร (3)ค่าเดินทาง ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มขึ้น
“นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้แก้ปัญหาด้วยการยึดหลักการ 3 ข้อ ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ช่วยคนเปราะบาง แต่บริบทของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลกับราคาพลังงานและมีแนวโน้มจะยาวนานเกิน 1 ปี จึงต้องถามว่ารัฐบาลวางแผนอย่างยั่งยืนไว้รองรับย่างไร
“เพราะรัฐบาลวางแผนงบประมาณสำหรับวิกฤตพลังงานไว้เพียง 5 แสนล้านบาทเท่านั้น 2 แสนล้านใช้ไปแล้วในปีงบประมาณ และก็เป็นคำถามต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้งบประมาณไปอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง โดยเฉพาะการลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลอยู่ 7.5 ล้านคัน จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดราคาแบบดีขลุม โดยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณเพื่อความยั่งยืนได้ ขณะที่คนเปราะบางก็ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซล จึงต้องถามถึงความชัดเจนในแนวทางการจัดการของนายกรัฐมนตรี และแผนสำรองในการจัดการวิกฤต หากเกิดวิกฤตพลังงานยาวนานต่อเนื่อง การลดราคาแบบตีขลุมจะมีความยั่งยืนหรือไม่”
นอกจากนี้ นายพิธา ยังตั้งคำถามถึงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น สินค้าหลายอย่างขึ้นราคาภายในเดือนเดียวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับบริบทประเทศที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
“ราคาเนื้อสัตว์พุ่งสูง สืบเนื่องจากอาหารสัตว์ขาดแคลนเพราะสงคราม แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการให้บทบาทสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งภายในคณะทำงาน สมช. กลับไม่มีทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรกเลย เมื่อเป็นแบบนี้สมช.จะสามารถแก้ไขวิกฤตพลังงานและวิกฤตราคาสินค้าได้จริงหรือ”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า ปัญหาวิกฤตพลังงาน รัฐบาลใช้เครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการปรับลดภาษีและการตรึงราคาน้ำมัน ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น มีการใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งหากอุดหนุนไปตลอดจะทำให้เกินฐานะของกองทุนฯ จึงได้มีมาตรการยกระดับตรึงราคาขึ้นมา แต่ราคายังไม่สูงที่สุดหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่ประเทศส่งออกน้ำมัน ซึ่งอยู่ที่ขีดความสามารถในการกู้ยืมเงินของกองทุนฯ และการเจรจาลดค่าการกลั่นน้ำมัน โดยรัฐใช้ทุกเครื่องมือที่มี ขณะที่การลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3-5 บาทต่อลิตรนั้น มีต้นทุน ส่งผลให้รายได้ของภาครัฐเสียไปเกือบ 4 หมื่นล้านบาท แต่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยยอมรับว่า ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นนั้น มาจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันโลกได้
ส่วนการคาดเดาสถานการณ์รัสเซียและยูเครน คาดเดาไม่ได้ ขณะที่มาตรกการรับมือในระยะกลางและระยะยาว จะปรับเปลี่ยนพลังงานจากเดิมที่พึ่งพาพลังงานสิ้นเปลืองหรือพลังงานฟอสซิล มาเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งการผลักดันการใช้รถไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)
นอกจากนี้ เรื่องของการประหยัดพลังงาน เป็นเรื่องสำคัญ มีมาตรการที่ต้องร่วมมือกัน ขณะที่เรื่องของความสามารถของ สมช. ในการแก้วิกฤตพลังงานและอาหารนั้น เห็นว่า เรื่องความมั่นคงมีหลายด้าน ครอบคลุมทั้งการทหาร เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเชื่อว่า สมช. จะสามารถบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้าย คือ ปัญหาการลดจำนวนเที่ยวโดยสารและรถโดยสารของ ขสมก. เนื่องจากต้องเผชิญต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งเข้าใจผู้ประกอบการ แต่เห็นว่าการลดเที่ยววิ่งนั้น ต้องอยู่ในมาตรฐานและยังเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ โดยได้สื่อสารไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว ส่วนเรื่องการเปลี่ยนรถโดยสารจาก NGV เป็น EV นั้น คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผนในระยะกลางหรือระยะยาว