ชัชชาติ จับมือ วิโรจน์ สำรวจคลองลาดพร้าว ชู สร้างการเมืองใหม่
ชัชชาติ จับมือ วิโรจน์ เชิญว่าที่ ส.ก. 4 เขต สำรวจปัญหาคลองลาดพร้าว ย้ำอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียว ชูสร้างการเมืองใหม่ กทม. ขยายบทบาท ส.ก. เข้มแข็งขึ้น
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จับมือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สำรวจคลองลาดพร้าว พร้อมเชิญว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 4 เขต ร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ประกอบกับ ณภัค เพ็งสุข ว่าที่ ส.ก. เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ว่าที่ ส.ก. เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ว่าที่ ส.ก. เขตห้วยขวาง พรรคเพื่อไทย และ อนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ว่าที่ ส.ก. เขตวังทองหลาง พรรคเพื่อไทย
นายชัชชาติ พิมพ์แผนที่แสดงรายละเอียดเจต ขนาด A3 ให้ว่าที่ ส.ก. ร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่หลายด้าน พร้อมกล่าวว่า ในอนาคตตั้งใจจะเชิญ ส.ก. ในฐานะผู้รู้และเข้าใจปัญหาที่ดีสุด ร่วมลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง ย้ำเป็นนิมิตหมายอันดี สร้างการเมืองใหม่ กทม. และเพื่อให้ ส.ก. จะมีบทบาทเข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของตน
“ผมว่า ส.ก. ที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กัน แม้ว่าอยู่คนละพรรคก็ต้องคุยกัน เพราะข้ามฝั่ง (คลองลาดพร้าว) ก็เป็นอีกเขตหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาก็คล้ายคลึงกัน ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราเห็นแตกต่างกันได้แต่อย่าทะเลาะกัน เราก็ตั้งหน้าตั้งหน้าทำงานเพื่อประชาชนเหมือนกัน ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะร่วมมือกัน ไม่ได้คิดถึงพรรคแต่คิดถึงคนกรุงเทพฯเป็นหลัก สุดท้ายมันจะเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง และสร้างบริบทการเมืองใหม่ที่เราอาจไม่ค่อยได้เห็น ผมว่าบทบาท ส.ก. ต่อไปจะเข้มแข็งขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า แม้ กกต. ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่เมื่อได้ฟังปัญหาเร่งด่วนเรื่องน้ำท่วม จึงต้องลงมาสำรวจทันที ทั้งนี้ คลองลาดพร้าว หรือ คลองบางบัว พบปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ส่งผลให้เขื่อนริมคลองบางจุดไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถดำเนินขุดลอกได้ เมื่อฝนตกหนักจะกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทั้งนี้ หากสามารถขุดคลองให้ลึกจากเดิม 1 เมตร เป็น 3 เมตร จะเพิ่มปริมาตรน้ำและอัตราความเร็วได้มหาศาล
นอกจากนี้ ยังเสนอแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยแก้มลิง ชัชชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้วในพื้นที่หน่วยราชการมีแก้มลิงขนาดใหญ่ ที่สามารถบริหารจัดการด้วยการพร่องน้ำช่วงฝนไม่ตก และเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่รับน้ำกรณีฝนตก ยกตัวอย่างเช่น เขตบางเขน ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำด้านเหนืออยู่แล้ว มีพื้นที่หน่วยราชการและหน่วยทหาร หากดำเนินการขุดลอกบึงและติดตั้งปั๊ม พร้อมวางระบบประสานงานกับ กทม. ก็จะช่วยแจ้งเตือนและรับมือเมื่อฝนตกหนักได้ล่วงหน้าอีกด้วย