อนุมัติประกันได้รายข้าว พร้อมช่วยชาวนาอีก ไร่ละ 1,000 บาท
ชาวนาเฮ ! ครม. อนุมัติวงเงิน 76,080.95 ล้านบาท สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 เพิ่มเติม พร้อมช่วยชาวนาอีก ไร่ละ 1,000 บาท
วันที่ 30 พ.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยวันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 วงเงินจ่ายขาดเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นตามมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564 /65 วงเงินจ่ายขาด 89,306.39 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน ฯ วงเงินจ่ายขาด 6,955.98 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 54,972.72 ล้านบาท รวมวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 151,235.09 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน มีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการประกันรายได้เพิ่มเติม ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 76,080.95 ล้านบาทโดยดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล 2561 ตลอดจนกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ข้อ 2 กำหนดให้อัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานบอร์ด นบข. ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้
อนุมัติ 54,972 ล้านบาท พัฒนาคุณภาพผลผลิต
นายธนกร ยังเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 54,972.72 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ ฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 วงเงินจ่ายขาดรวม 54,972.72 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 53,871.84 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 2 วงเงิน 1,077.44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. รายละ 5 บาทเป็นวงเงิน 23.44 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2565
วัตถุประสงค์โครงการ ฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภัยแล้ง โรคระบาด รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ยังมุ่งสนับสนุนให้เกษตกรมีเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพในการผลิตข้าว ดำเนินงานโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับ คือ เกษตรกรมีรายได้ส่วนเหลือเพิ่มขึ้น มีเงินไว้สำหรับใช้จ่ายภายในครัวเรือน กระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจประเทศ