ไอติม ยัน ล้ม ส.ว.ใช้สภาเดี่ยว ไม่น่ากลัว ชี้ อยู่ไปก็เปลืองงบ
จับตา “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน” ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย.นี้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) กล่าวว่า ข้อเสนอ ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่น่ากลัว เป็นระบบที่ประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐเดี่ยว และใช้ระบบรัฐสภา ถึง 2 ใน 3 ใช้อยู่ ในอดีต ประเทศไทยเคยมีสภาเดี่ยวมาแล้ว ดังนั้นสภาเดี่ยวต่างหากที่เป็นมาตรฐานปกติ และการใช้สภาคู่ต่างหากที่เป็นข้อยกเว้น วุฒิสภาในรูปแบบที่เป็นอยู่ของประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ควรมีที่ยืนในประเทศที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจและที่มาของวุฒิสภาต้องสอดคล้องกัน ถ้าวุฒิสภาจะมีอำนาจมาก ที่มาก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนสูง คือมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อำนาจของวุฒิสภาก็จะมีเยอะไม่ได้ เช่น ที่อังกฤษ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งก็จริง แต่มีอำนาจไม่มาก สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือกลั่นกรองกฎหมาย หรือชะลอร่างกฎหมายไว้ 1 ปี หรือที่สหรัฐอเมริกา ส.ว. มีอำนาจเยอะมาก สามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ แต่ก็เพราะมาจากการเลือกตั้ง
“แต่กรณีวุฒิสภาของไทย สมการนี้บิดเบี้ยวไปหมด ในมุมหนึ่ง วุฒิสภาไทยมีอำนาจสูงมาก ทั้งการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คำนวณออกมาได้ว่า ส.ว. หนึ่งคนมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่าประชาชน 70,000 คน และ คสช.หรือใครก็ตามที่ควบคุม ส.ว. 250 คนได้ มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับประชาชน 19 ล้านคน นอกจากเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังสามารถแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมดด้วย รวมทั้งสามารถร่วมลงมติในร่างกฎหมายทุกฉบับที่เข้าข่ายการปฏิรูปประเทศ”
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แต่ในอีกมุมหนึ่ง วุฒิสภาไทย กลับมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยตรง 194 คน ทางอ้อมอีก 50 คน และยังมี ผบ. เหล่าทัพที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งอีก นั่นเท่ากับว่า คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. ส่วนใหญ่ แล้วหัวหน้า คสช. ก็มาลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แล้ว ส.ว. ที่ถูกหัวหน้า คสช. แต่งตั้งก็ไปเลือกหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือกระบวนการที่วิปริต และเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนในตัวเอง
ดังนั้น วุฒิสภาที่มีอำนาจและที่มาไม่สอดคล้องกัน ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแบบนี้ จึงไม่ควรมีที่ยืนอยู่ระบอบประชาธิปไตยเด็ดขาด ทางเลือกที่ดีที่สุด จึงเป็นการไม่ต้องมีวุฒิสภาเลย ใช้เป็นระบบสภาเดี่ยว ซึ่งมีข้อดีกว่าหลายส่วน อาทิการออกแบบวุฒิสภาที่มีอำนาจและที่มาสอดคล้องกันและไม่เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องที่ยาก การใช้ระบบสภาเดี่ยว เป็นการประหยัดเวลาที่ต้องมาออกแบบ ว่าวุฒิสภาควรจะเป็นรูปแบบไหน ค่าใช้จ่ายที่สูงถึงหลักพันล้านบาทต่อปี การยกเลิกวุฒิสภาจะเป็นการประหยัดงบประมาณไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่านี้ได้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า สภาเดี่ยวเป็นระบบที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่มากที่สุด การเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้เกิดขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น กระบวนการออกกฎหมายผ่านสภาเดียวจะทำให้ประเทศมีความคล่องตัวในการรับมือกับสิ่งใหม่ได้รวดเร็วกว่า แทนที่จะต้องผ่านสภาสองชั้น ในส่วนของข้อกังวลเรื่องกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องย้ำว่าในโลกสมัยใหม่การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากสุดในโลก ไม่ใช่การมีวุฒิสภา แต่เป็นการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้มากที่สุด การเปลี่ยนกฎหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น คุ้มครองคนที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล
นายพริษฐ์ กล่าวว่า อีกทางหนึ่ง การเพิ่มอำนาจของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอยู่แล้ว Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ จึงให้หนึ่งในรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นโควตาจากพรรคฝ่ายค้าน และกรรมาธิการที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาล ต้องให้ฝ่ายค้านได้เป็นประธาน เป็นต้น
นายพริษฐ์ ระบุ วันอังคาร 16 พ.ย. 2564 ภาระการพิสูจน์ว่าทำไมต้องยกเลิกวุฒิสภาไม่ได้อยู่ที่เรา ในเมื่อคุณเป็นองค์กรที่อาศัยงบประมาณอย่างน้อยหนึ่งพันล้านบาทต่อปี ภาระการพิสูจน์ต้องอยู่กับสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ว่าจะอภิปรายอย่างไรเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ในการคงไว้ของวุฒิสภา ถ้าชี้แจงแล้วไม่ชัด ประชาชนไม่เห็นด้วย หรือเหตุผลที่ให้มามันฟังไม่ขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การเดินหน้าสู่สภาเดี่ยวควรเป็นทางเลือกหลักของประเทศนี้