ถกงบวันที่ 3 ‘สภา’ ชำแหละงบพลังงาน ชง ตัดเพียบ
สภาถกงบประมาณวาระ 2 มาราทอน วันที่ 3 ก้าวไกล ประสานเสียง ประชาธิปัตย์ ตัดงบพลังงาน
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วาระ 2 เป็นวันที่ 3
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แปรญัตติมาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดยขอตัดลดงบประมาณร้อยละ 10 ว่า จากกรณีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ประมูลได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแหล่งเอราวัณและบงกชไปถือครอง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างเชฟรอนที่เคยเป็นผู้ถือครองสัมปทานมาอย่างยาวนานพ่ายแพ้ไป และเชฟรอนต้องส่งแผนรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมและมอบทรัพย์สินทั้งหมดส่งให้รัฐบาล แต่เชฟรอนกลับชี้แจงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยได้ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการต่อรัฐไทย ประเด็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่กรมเชื้อเพลิงพลังงานให้เชฟรอนรับผิดชอบเองภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งการฟ้องร้องเกิดขึ้นภายหลังจากการประมูล โดยกรมเชื้อเพลิงพลังงานได้ส่งหนังสือให้เชฟรอนจัดทำรายละเอียดแผนการรื้อถอนและประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 300 แท่น ค่าหลักประกันในการรื้อถอนราว 1.5 แสนล้านบาท โดยหลักประกันการรื้อถอนที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ปี 2559 ผู้รับสัมปทานระบุว่ามีการออกกฎกระทรวงย้อนหลัง ผู้รับสัมปทานจึงต่อสู้ประเด็นนี้ว่าหลักการทางกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
น.ส.เบญจา กล่าวว่า รมว.พลังงาน ได้ดำเนินนโยบายเป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ และรัฐเองไม่เคยขอแก้สัญญาสัมปทานเดิมที่ทำมาตั้งแต่ ปี 2515 ซึ่งเป็นสัญญาที่อาจจะไม่รอบคอบและไม่รัดกุม เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลังหรือไม่ ดังนั้น อาจทำให้ไม่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญาหรือไม่ จึงน่ากังวลว่าจะกลายเป็นความบกพร่อง ขาดความรอบคอบและรัดกุม
พร้อมขอตั้งคำถามไปยังกรรมาธิการว่าหากอนุมัติงบประมาณที่กรมเชื้อเพลิงพลังงานขอจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายที่จะใช้ดำเนินการไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระจากการที่ถูกฟ้องร้องนี้หรือไม่ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า การยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่สามารถทำได้ เพื่อขอความชัดเจนทางกฎหมาย แต่หากรัฐมนตรีดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น หากกรรมาธิการชี้แจงไม่ได้ ก็จะขอตัดงบประมาณในส่วนดังกล่าวจำนวน 185 ล้านบาทออกไปก่อน
ด้าน นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงพลังงาน ลง 10% เนื่องจากยุทธศาสตร์และแผนงาน โครงการการพัฒนาพลังงานทดแทนมุ่งเน้นไปที่เอกชนรายใหญ่ แต่กลับมีเงื่อนไขกับรายย่อย ขาดการส่งเสริมพลังงานภาคครัวเรือน อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการพลังงานทดแทนที่เข้ามาช่วยสนับสนุนภาคการเกษตร ขณะที่ความเหลื่อมล้ำความไม่สมดุลของการใช้พลังงานยังเห็นได้ชัด บางพื้นที่มีใช้เหลือเฟือ แต่บางพื้นที่กลับขาดแคลนหนัก
ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เสนอขอปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงพลังงานลงอีก ร้อยละ 7 แม้กรรมาธิการได้ปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงานลงแล้ว แต่เห็นว่าเป็นการปรับลดงบน้อยมาก จึงขอปรับลดลงอีกร้อยละ 7 เนื่องจากไม่ได้นำงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนได้ดีพอ
พร้อมแนะกระทรวงพลังงานทบทวนการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบเรื่องกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า(2564-2568) ซึ่งเรื่องนี้ต้องถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หน่วยงานอิสระที่อยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานต้องมีบทบาทในการดูแลเรื่องราคาไฟฟ้าให้ประชาชน ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนหวงห้าม พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบถาวรได้ เพราะติดปัญหาต้องขออนุมัติจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินก่อน แต่ข้อเท็จจริงคือ หน่วยงานของรัฐเจ้าของพื้นที่ ไม่เคยมีการอนุมัติให้คนกลุ่มนี้ไปขอมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรได้เลย ทำให้ประชาชนที่อาศัยในเขตป่า และพื้นที่หวงห้ามต่างๆ ต้องขอมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราว ส่งผลการจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เฉลี่ยหน่วยละประมาณ 7 บาท ซึ่งแพงกว่าประชาชนที่มีบ้านอยู่อาศัยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีผู้ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวกว่า 3.6 แสนครัวเรือน และการไฟฟ้านครหลวงอีก 2.7 หมื่นครัวเรือน อีกทั้ง ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ จะทำให้คนไม่มีบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จึงอยากฝากทุกภาคส่วนพิจารณาให้มีการปรับราคาโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมสำหรับประชาชนกลุ่มดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมลงมติเห็นชอบงบประมาณของกระทรวงพลังงาน ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ วงเงิน 1,873,129,300 บาท