ถกแก้ รธน. วันที่ 2 ถวิล โต้ มี ส.ว.เพราะนักการเมืองไม่ดี
สภาถกแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 2 ก้าวไกล เสนอประชามติ ถวิล เปลี่ยนศรี โต้ มี ส.ว.เพราะนักการเมืองไม่ดี
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นวันที่ 2
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พรรคก้าวไกล ขอเสนอให้รัฐสภาและเดินหน้าการจัดทำประชามติ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ให้ประชาชนผู้มีอำนาจได้แสวงหาฉันทามติร่วมกัน ว่าระบบการเมืองแบบใดที่เรายอมรับกันได้ และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันได้ อันจะเป็นการหยุดวงจรอุบาททางอำนาจ
“ขอเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาช่วยกันไม่โหวตเพื่อต่ออายุระบอบประยุทธ์ และร่วมมือร่วมใจกันโหวตเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.เปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ หากเราไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว.การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่มีความหมาย จะเป็นเพียงแค่ละครตบตาประชาชนฉากใหญ่”
นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า แท้จริงแล้ว ส.ว.ไม่ได้ชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี หากนายกฯไม่มีเสียงสภาผู้แทนราษฎรมากเพียงพอ ก็เป็นนายกฯไม่ได้ ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ไม่มีเสียงจาก ส.ว.แม้แต่คนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯได้อยู่แล้ว
ทราบดีว่าในสถานการณ์ปกติ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากเสียงประชาชน ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาเราเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ที่บ้านเมืองเรายุ่งเหยิงวุ่นวายมืดมนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะอะไรฝีมือใคร
“ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะฝีมือพวกผม ที่ผ่านมาใครกันอาศัยประชาธิปไตยบางหน้าโกงกินคอรัปชั่น จนบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ ใครกันที่ดำเนินนโยบายผิดพลาด จนบ้านเมืองเสียหายแทบล้มจม ใครกันอาศัยเสียงข้างมากทำตามอำเภอใจออกกฏหมายนิรโทษกรรม ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างย่อยยับ ไม่ฟังเสียงใคร กระทั่งประชาชนต้องออกมาเดินขบวนขับไล่กันเต็มถนนเป็นล้านล้านคน“
นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) กล่าวว่า จุดยืนและหลักการของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.พรรคยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นประเพณีการปกครองประเทศนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จุดยืนของพรรครปช. ในเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเนื้อหาสาระแห่งบทบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญที่จะต้องดำรงเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้อย่างแท้จริง
2.ข้อพิจารณาของพรรคอยู่ที่ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังที่ได้มีการเสนออยู่ในขณะนี้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่อย่างไร
3.ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ มิใช่แก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของนักการเมืองและพรรคการเมือง
4.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีจุดมุ่งหมายให้ระบบการเมืองดีขึ้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในเรื่องการปฏิรูปการเมือง และยกระดับคุณภาพของนักการเมืองให้ดีขึ้น ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถกลับไปประพฤติปฏิบัติแบบเดิม จนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา
และ 5.รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เปิดโอกาสให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ คือต้องมีดุลยภาพแห่ง 3 อำนาจอธิปไตยของปวงชน และต้องธำรงหลักประกันแห่งความยุติธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง