ปกรณ์ ไขข้องใจ ออก “กฎหมาย” เร็ว หรือ ช้าอยู่ที่ใคร?
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจง ละเอียดยิบ ออก “กฎหมาย” เร็ว หรือ ช้าอยู่ที่ใคร?
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายข้อสงสัยว่าร่างกฎหมายอยู่ในสภาแล้ว กฤษฎีกาไปทำให้เขาล่าช้าตามข่าวได้ยังไงกัน
เขา บอกว่า ที่เรียกรวม ๆ กันว่า “กฤษฎีกา” นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ส่วนหนึ่ง กับ “สำนักงาน” อีกส่วนหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ทำงานเป็นองค์คณะ ๆ ในลักษณะ Interdisciplinary หรือสหวิทยาการ เพราะร่างกฎหมายมันมีผลกระทบหลายมิติ ใช้นักกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ส่วนสำนักงานนั้นเป็นข้าราชการประจำ
นายปกรณ์ กล่าวว่า ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายที่กระทรวงใดเสนอแล้ว ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ คอยปรับปรุงแก้ไขร่างตามมติของคณะกรรมการ
เมื่อตรวจร่างกฎหมายเสร็จ สำนักงานฯ ก็จะส่งร่างพร้อมบันทึกประกอบไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อส่งร่างกฎหมายนั้นต่อสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาต่อไป แต่ถ้าเป็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศก็จะเสนอรัฐสภา คือที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา เพื่อพิจารณา
“ตรงที่เข้าสภานี้แหละที่เป็นธรรมเนียมมานมนานว่าจะมีการตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ไม่ใช่คณะกรรมการ ไปเป็นกรรมาธิการร่วมอยู่ด้วย เวลาสมาชิกท่านจะแก้ไขตรงไหน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ได้รับมอบหมายซึ่งปกติก็จะได้แก่เลขานุการคนทำร่างนั้นมาแต่แรกนั่นแหละ ที่จะคอยช่วยให้คำแนะนำว่าควรเขียนอย่างไรเพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ถ้าเป็นร่างกฎหมายสำคัญ เจ้าหน้าที่ซึ่งส่งไปเป็นกรรมาธิการก็จะเป็นระดับสูง
ขอย้ำว่าการให้คำแนะนำที่ว่านี้ไม่ใช่รับมอบการบ้านไปทำ กรรมาธิการทั้งคณะต้องตกลงกันให้ได้เสียก่อนว่าในประเด็นที่จะแก้ไขไปจากร่างเดิมนั้น มันควรมีหลักการอย่างไร ไม่ใช่อยู่ ๆ กรรมาธิการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ จะไปคิดหาทางหนีทีไล่แล้วขีดเขียนเองได้ตามใจชอบ”
นายปกรณ์ กล่าวว่า หลักนี้อธิบายง่ายๆ ว่าคณะกรรมาธิการของสภานั้น เป็นองค์กรกลุ่ม และปฏิบัติงานในวงงานนิติบัญญัติ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ แม้จะปฏิบัติในฐานะกรรมาธิการคนหนึ่ง ก็ไม่อาจไปทำหน้าที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติได้ เรารักษาความเป็นกลาง
ดังนั้น ที่พูด ๆ กันว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในสภาแล้ว แต่ช้าเพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และทำให้คนในสังคมแปดบรรทัดเข้าใจอะไรไขว้เขวไปได้ง่าย ๆ และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้เองที่ทำให้สำนักงานฯกลายเป็นจำเลยสังคมไปซะงั้น
ที่ถูกคือ
1.คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เกี่ยว คนที่เกี่ยวคือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการ
2.เจ้าหน้าที่ของสำนักงานซึ่งเป็นกรรมาธิการนั้นเป็นข้าราชการประจำ เวลาทำงานจึงไม่มีมิติทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการตกลงจะให้แก้ไขตรงไหนเป็นอย่างไร ก็จะคอยช่วยเหลือแนะนำเขาเท่านั้น ไม่ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ช้าที่สำนักงานฯ ช้าอยู่ที่สภา
3.ถ้ากรรมาธิการซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติตกลงกันได้ว่าจะไปทางไหน มี drafting instruction ที่ชัดเจน ก็จะแนะนำได้ถูกว่าควรแก้ไขร่างอย่างไรจึงจะสมดังที่ตั้งใจ แก้ตรงนี้แล้วต้องตามไปแก้ตรงไหนอีก จะได้ไม่ขัดกันเอง แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ไม่มี drafting instruction ที่ชัดเจน หรือเป็นประเด็นการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ท่าน ๆ ต้องหาข้อยุติร่วมกันว่าจะออกทางไหน ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันขององค์กรกลุ่มทั่ว ๆ ไป จะไปโยนให้คนนั้นคนนี้ไม่ได้
ดังนั้น จึงแนะนำว่า ถ้าร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว อย่าพูดกันเลยครับว่าช้าที่กฤษฎีกา ชาวบ้านงงเปล่า ๆ แถมผู้สื่อข่าวและนักเล่าข่าวก็พลอยมึนไปด้วย หันมาต่อว่ากฤษฎีกากันเป็นการใหญ่ทีเดียวเชียว