ศาล รธน.ชี้ คำสั่งศาลปกครองจ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์” ขัด รธน.
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย คำสั่งของศาลปกครอง ซึ่งให้จ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์” ขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 จากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่าเป็นระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197
ขอให้สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ศาลปกครองสูงสุด ส่งเอกสารรายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว รวมทั้งระเบียบ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อมาศาลปกครองสูงสุดส่งหนังสือชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 2 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน
โดยการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันนี้ (17 มี.ค.) ครบองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 52 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดี และในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าเจ็ดคน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทน ประธานศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 18 วรรคสี่
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่