วงเสวนาเข้มข้น “รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสมบูรณ์”

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน PRIDI Talks #9 x CONLAB ไอติม เสนอรัฐธรรมนูญ 3 เสาหลัก
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ Function room ชั้น 4 ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน PRIDI Talks #9 x CONLAB เสวนา รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ร่วมเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสมบูรณ์” โดยตั้งข้อสังเกตว่า ภายในช่วงเวลาแปดสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลายประเทศไปไกลกว่านี้มาก เพราะเหตุใดการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ถึงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันมีนัยยะสำคัญ และเราจะทำอย่างไรให้ขบวนการประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ โดยหยิบยกคำพูดของบุคคลสำคัญของไทย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตยและในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม” และบทเรียนกรณีศึกษาการต่อสู้กับเผด็จการทหารของประเทศเมียนมา ในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย
นายวรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปโดยสันติวิธีหรือไม่ ให้มองที่ “ประวัติศาสตร์” และศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารที่แท้จริง มิใช่คำเล่าลือ (Hearsay) ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก กรณีศึกษา การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมอบบทเรียนที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของรัฐในห้วงเวลาที่เกิดการสถาปนาอำนาจของประชาชนขึ้น ซึ่งอิทธิพลของการปฏิวัติครั้งนั้นยังคงส่งผลต่อเนื่องมาต่อรัฐธรรมนูญทั่วโลก รวมถึงยังส่งผลต่อการเมือง สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อะไรคือปัญหาของการเมืองไทย และประชาธิปไตยไทย ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารบ่อย การเมืองไร้เสถียรภาพ หรือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐประหาร ซึ่งทางออกต่อปัญหาเรื้อรังของสังคม จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผ่านการสร้างการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย ทั้ง 3 ด้านนี้จำเป็นต้องดำเนินไปควบคู่ซึ่งกันและกัน อันเป็นแนวความคิดหลักของปรีดี พนมยงค์
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ “เป๋า iLaw” ระบุ“วันนี้ (13 มีนาคม 2564) เราได้เดินทางมาถึงทางแยกอีกครั้ง ถ้าไปทางแยกหนึ่ง มันเป็นทางแยกที่นำไปสู่โอกาสในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่อาจมีอุปสรรคบ้าง และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่อีกทางหนึ่งที่เป็นทางย้อนกลับเดินถอยหลัง ทำลายหลักการและหาทางไปต่อลำบากจริง ๆ”
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) ร่วมเสวนาเรื่อง “3 เสาหลักรัฐธรรมนูญ” และได้ฝากหลักคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า การร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี 3 เสา ได้แก่ 1. “ก้าวพ้น” ออกจากวิกฤติ เพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของในอำนาจสูงสุดของรัฐ มีกติกาที่เป็นกลาง และมีกระบวนการที่เป็นกลาง 2. “ก้าวสู่” ประชาธิปไตย เพื่อยึดหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน 3. “ก้าวทัน” โลกอนาคต ออกแบบรัฐให้คล่องตัวและว่องไว เนื่องจากโลกอนาคตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐธรรมนูญต้องเป็นหลักการพื้นฐานที่รองรับความเป็นไปได้ และเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกอนาคตที่มีความท้าทาย