ม็อบ เผาแถลงการณ์หน้าทำเนียบฯ ทวงสิทธิ “วันสตรีสากล”
สารพัดม็อบ เยือนทำเนียบรัฐบาล เผาแถลงการณ์ เรียกร้อง- ทวงสิทธิวันสตรีสากล
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มี.ค. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก กลุ่ม P-Move พร้อมด้วย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มผู้หญิง เครือข่ายสลัม 4 ภาค , เครือข่ายสตรี(สกน.) สมาพันธ์เกษตรภาคเหนือ รวมถึง ภาคีเซฟบางกลอย ฯลฯ ทำกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล
โดยมีการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมชูป้ายข้อความตามข้อเรียกร้องต่างๆ และยังมีมีการเผาจดหมายแถลงการณ์และข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับแถลงการณ์ เป็นการทวงสัญญานโยบายต่างๆ ที่พรรคพลังประชารัฐ เคยให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียง เช่น ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท
นอกจากนี้ แถลงการณ์ ยังมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ
2.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
3. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 37.98 และฉบับที่ 183
4. รัฐบาลต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 – 425 บาท ป.ตรีเงินเดือน 20,000 บาท อาชีวะเงินเดือน 18,000 บาท เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี 5 ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 10 % และโครงการมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้
5. รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
6. รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายให้สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร
7. รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุทุกคนเป็นเงิน 3,000 บาท/เดือน
ต่อมาเวลา 11.10 น. กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จำนวน 300 คน เดินขบวนมายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากล โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับข้อเสนอ ก่อนที่จะมีการอ่านแถลงการณ์ 8 ข้อ
1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%
3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรง และการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและอนุสัญญา IL0 ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้านเพื่อให้แรงงาน ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
5. รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบรวมถึงหามาตรการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
6. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท
7. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3
8. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี