ฝ่ายค้าน ชงศาลรัฐธรรมนูญ 7 ข้อ สภามีอำนาจ แก้ รธน.
พรรคร่วมฝ่ายค้าน บุก ศาลรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็น 7 ข้อ ยืนยัน สภามีอำนาจ ตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายธงชาติ รัตนวิชา ที่ปรึกษาพรรคประชาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอส่งบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภามาจากตัวแทนประชาชนจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจของรัฐสภาจึงถือเป็นการใช้อำนาจในฐานะตัวแทนของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง
2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อข้อห้ามตามมาตรา 255 ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 256 ถือว่าการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ไม่ใช่เป็นกรณีที่รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่รัฐสภาใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญได้มอบให้ในการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตราเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น อีกทั้งในระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภา ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้
5. กรณีที่ประธานสภาจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต้องเป็นเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่รัฐสภาเท่านั้น เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา จึงไม่ต้องพิจารณาอีกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือไม่
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางมาตรา เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นได้เคยทำมาแล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 จึงไม่อาจยกข้ออ้างที่ว่า ‘เมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ทำได้ รัฐสภาจึงไม่อาจดำเนินการได้’ มาใช้กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในกรณีนี้
6. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ยังคงหลักการที่ว่า อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเริ่มต้นโดยเริ่มจากการเลือกตั้ง ส.ส.ร. การส่งร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณาและสุดท้ายการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่
7. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นทางออกให้กับประเทศไทย ป้องกันวิกฤตรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการจัดทำในสภาพที่บ้านเมืองไม่ได้มีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำขึ้นด้วย จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายประการ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนนั้นเป็นการดำเนินการตามวิถีประชาธิปไตย ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงนับว่าเป็นทางออกให้กับประเทศไทย ป้องกันวิกฤตรัฐธรรมนูญ