กรรมการสมานฉันท์ ตื้อฝ่ายค้าย-แกนนำม็อบ ร่วมปรองดอง
ประธานกรรมการสมานฉันท์ ตื้อ ฝ่ายค้าน ม็อบ ร่วมวงปรองดอง ชี้ มีความเป็นไปได้
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์กำลังจะพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการ และหารือร่วมกันถึงแนวทางเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนที่ยังขาดอยู่ ประกอบด้วย ผู้แทน ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวน 2 คน ฝ่ายผู้ชุมนุมจำนวน 2 คน และฝ่ายอื่น ๆ อีก 2 คน
พร้อมกำหนดกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าการประชุมต่อประธานรัฐสภา ทุก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ส. ฝ่ายค้านคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่ต้องให้เวลาสำหรับการหารือกันในพรรคฝ่ายค้าน ส่วนตัวไม่ตั้งเป้าหรือล็อคตัวบุคคลใดเป็นพิเศษ แต่ให้เป็นมติร่วมกันของคณะกรรมการว่าจะดึงบุคคลใดเข้าร่วม
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา แถลงถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในการลงนามประกาศ แต่งตั้ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นกรรมการสมานฉันท์ โดยยืนยันว่า ประธานรัฐสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ทุกประการที่กำหนดให้ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและดำเนินกิจการของรัฐสภาและการแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ก็เป็นการแต่งตั้งตามความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถือว่าเป็นกิจการของสภาโดยแท้ โดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 5 (6) ระบุให้อำนาจประธานในการแต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆอันเป็นผลจากการประชุมร่วมกันก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับที่เป็นเรื่องของการดำเนินการในกิจการของรัฐสภาการแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์เป็นการดำเนินกิจการในกรอบวงงานของรัฐสภาเพื่อให้มีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดในการทำหน้าที่หาทางออกให้กับประเทศ เจตนารมณ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
นายราเมศ กล่าวว่า ดังนั้นการแต่งตั้ง รมช.กลาโหมเ ป็นกรรมการสมานฉันท์ จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 ที่ระบุไว้ชัดว่า มาตรา 184 ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภาหรือเป็นกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เช่นการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ไม่มีประเด็นใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่สถาบันพระปกเกล้าวางไว้ให้มีสัดส่วนของผู้แทนรัฐบาลจำนวน 2 คน พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รมช.กลาโหม ก็เป็น 1 ใน 2 คน ซึ่งเป็นลักษณะทำนองเดียวกันกับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงขอยืนยันว่าเป็นการแต่งตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับทุกประการ