ส่งออกรถยนต์เดือนก.พ.ทะลุแสนคัน
ส่งออกรถยนต์เดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 4.05% หรือมีจำนวน 102,217 คัน ส่งผล 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 184,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.34% ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมด (ในประเทศและส่งออก) ในเดือนก.พ.แตะ1.7 แสนคัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนก.พ.2561 ส่งออกได้ 102,217 คัน เพิ่มขึ้น 4.05% จากเดือน ก.พ.2560 โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,273.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.72% จากเดือน ก.พ.2560 โดยตลาดตะวันออกกลาง และตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้เป็นบวกมา 4 เดือนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ตลาดออสเตรเลียยังคงเติบโตดีมาก ขณะที่ตลาดแอฟริกา ยุโรป และเอเชียส่งออกลดลง โดยตลาดเอเชียลดลงจากการชะลอส่งออกไปยังประเทศเวียดนามที่คุมเข้มรถยนต์ที่นำเข้า
ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.61) มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 184,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 94,287.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
ขณะที่การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนก.พ.2561 มีทั้งสิ้น 178,237 คัน เพิ่มขึ้น 15.37% จากเดือน ก.พ.2560 จากการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกและเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท และเพิ่มขึ้น 7.25% จากเดือนม.ค.2561 โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 344,433 คัน เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน ก.พ. มีจำนวนทั้งสิ้น 75,466 คัน เพิ่มขึ้น 10.3% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 13.4% จากเดือนม.ค.2561
ทั้งนี้ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวด้วยการส่งออกที่เติบโตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงเติบโตดี การถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล
นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานคนใหม่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนกลุ่มฯ ยานยนต์ โดยจะเน้นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่ภาครัฐกำลังส่งเสริม หรือยานยนต์เทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงความพร้อมของสมาชิกคลัสเตอร์ยานยนต์ทั้งระบบ
โดยการที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จำเป็นต้องศึกษาและมีความรู้ โดยประเด็นที่หนึ่งจะต้องสำรวจระบบไฟฟ้า หม้อไฟ ระบบสายไฟภายใน รวมไปถึงกำลังการใช้ไฟฟ้าในบ้านว่าเพียงพอต่อการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มหรือไม่ และประเด็นที่สองต้องสำรวจจุดติดตั้งต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ช่างไฟฟ้า หรือวิศวกรของบริษัทที่จำหน่าย เพื่อเข้าไปสำรวจและให้คำแนะนำในการติดตั้งปลั๊กเสียบเพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และประเด็นที่สาม คือ เรื่องอุปกรณ์การใช้ปลั๊กเสียบ โดยปกติอะไรก็ตามที่มีข้อต่อของการชาร์จระบบไฟฟ้าอาจมีการลัดวงจร จะต้องมีอุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วยเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟค่อนข้างสูง
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 1,367 คัน เป็นรถจักรยานต์ไฟฟ้าราว 1,190 คัน ซึ่งจะเห็นว่ายังมีการนำรถยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทยยังไม่มาก ทั้งนี้ก็อยู่ในความพร้อมของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยในปลายเดือนมี.ค.นี้จะมีงาน Bangkok International Mortor Show 2018 อาจเห็นผู้ประกอบการหลายรายมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย อาทิ TOYOTA ยังไม่เน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย โดยมองว่าบริษัทอาจยังไม่อยากให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนารถยนต์ระบบ Hybrid ก่อน
“อุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งกำลังเข้ามาเป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งภยันตรายสำหรับผู้ประกอบการ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงจุดนี้และต้องช่วยกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการยานยนต์ของเรา ผู้ผลิตชิ้นส่วนของเรา หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” นายครรชิต กล่าว.