“ศุลกากร”กลับลำแก้ประกาศ 60/2561
กรมศุลกากร ยอมรับประกาศฉบับที่ 60/2561 สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน พร้อมปรับปรุงประกาศใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ยังคงหลักการเดิม หลังโซเชียลมีเดียถล่มหนัก
นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีประกาศที่ 60/2561 ลงวันที่ 26 ก.พ.2561 เรื่อง“การปฎิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน” ส่งผลให้คนไทยเดินทางไปต่างประเทศ และนำขอมีค่าติดตัดไปด้วย เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา หรือโน๊ตบุ๊ค ต้องนำมาแจ้งต่อพนักงานศุลกากร (Declare) หรือดีแคร์ ที่ลือในโลกโซเชียลมีเดียนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะเจตนาของประกาศฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวไทย ไม่ใช่มาตรการเข้มงวดที่จะรีดภาษีจากคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประกาศของกรมศุลกากรฉบับดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่กรมศุลกากร ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่เหตุที่ต้องนำมาออกประกาศกรมศุลกากรใหม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร 2496 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ.ศุลกากร2560 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2560 เป็นต้นไป ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการยังคงมีผลในทางปฏิบัติ จึงต้องออกประกาศกรมศุลกากรฉบับดังกล่าว
โดยเนื้อหาของประกาศไม่ได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งเจ้าหน้าที่ (Declare) หรือดีแคร์ ตอนเดินทางออกนอกประเทศ แต่วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่อาจมีสิ่งของที่ต้องนำไปต่างประเทศ เช่น มีการนำนาฬิกา 20-30 เรือนทองคำและเครื่องประดับ 20 เส้น ไปแสดงนิทรรศการ หรือเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพในต่างประเทศ แล้วเกรงว่า หากนำของดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย อาจถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ท่าอากาศยานตรวจพบและถูกตั้งข้อสงสัยว่า ของชิ้นนั้นเป็นของที่เพิ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศและอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากร ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลาหรือมีความยุ่งยากในการหาหลักฐานประกอบคำชี้แจง
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรจึงมีบริการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถที่จะไปพบเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกสิ่งของนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงหลักฐานดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้บังคับและไม่มีบทลงโทษผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นว่าการดำเนิน การดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับตนเองหรือไม่
“ในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาว่า สินค้าหรือของมีค่าที่นำติดตัวออกนอกประเทศแล้วนำกลับมาในประเทศ เป็นการซื้อสินค้าใหม่หรือไม่ เช่น ประเทศที่มีความเสี่ยงหรือเป็นแหล่งช้อปปิ้งของคนไทย ลักษณะของสินค้ามีความเก่า-ใหม่แตกต่างกัน หากเป็นนาฬิกายี่ห้อแพงซึ่งมีลักษณะเก่าเนื่องจากผ่านการใช้งานนานแล้ว ก็ถือว่าเป็นของมีค่าที่นำติดตัวไปต่างประเทศ เป็นต้น จึงขอให้ผู้โดยสารสบายใจได้ แต่หากเป็นนาฬิกาใหม่ก็จะถูกเรียกเก็บภาษี เป็นต้น เช่นเดียวกับพระเครื่อง สร้อยคอทองคำที่นำติดตัวไปด้วยก็ไม่ต้องดีแคร์”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประกาศฉบับนี้ ได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนและความเข้าใจผิดของโลกโซเชียลมีเดีย นายกุลิศ สมบัติ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้ตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าว ให้ความชัดเจนมากอย่างขึ้น ซึ่งในหลักการแล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระสำคัญ แต่จะเน้นปรับปรุงการใช้ภาษาให้มีความเข้าใจมากขึ้นโดยคาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขประเด็นดังกล่าว
นายชัยยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ประจำด่านสนามบินสุวรรณภูมินั้น จะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น กรณีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน หากซื้อสินค้าหลายชิ้นมีมูลค่า 21,000 บาท ส่วนที่เกินคือ 1,000 บาทก็ไม่น่ามีภาระภาษีถือเป็นการอำนวยความสะดวก เนื่องจากสินค้าบางชนิดหากคำนวณเป็นค่าภาษีออกแล้ว คิดเป็นจำนวนเงินน้อยมากๆ จนไม่เป็นภาระภาษีก็ยกเว้นให้ได้ แต่ในกรณีที่สินค้ามีมูลค่า 30,000-40,000 บาท ก็ต้องนำมาเสียภาษี
ส่วนกรณีที่ประชาชนสงสัยคือ สินค้าที่ซื้อร้านค้าปลอดอากรภายในสนามบินนั้น ยังคงสามารถฝากสินค้ากับร้านค้าปลอดอากรได้เหมือนเดิม แต่สินค้าที่ฝากมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนกรณีที่ซื้อสินค้าปลอดอากรภายนอกสนามบินต้องมารับสินค้าและนำติดตัวออกไปนอกประเทศด้วย แต่หากนำสินค้าที่ซื้อกลับมาในประเทศต้องมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ต้องควบคุมปริมาณคือ เหล้าไม่เกิน 1 ลิตร บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือ 1 ห่อ
ด้านนายบุญเทียม โชควิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจผู้โดยสารสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารดีแคร์สินค้ามีค่าติดตัวเพียง 80 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องประดับและอัญมณี ที่นำไปขายหรือแสดงสินค้าในต่างประเทศ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่มีหรือแทบจะไม่มีการดีแคร์สินค้าติดตัวเลย โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้โดยสารดีแดร์สินค้าที่นำติดตัวเพียง 10 รายเท่านั้น และเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ไม่มีผู้โดยสารมาดีแคร์สินค้าติดตัวแต่อย่างใด
“คนที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ไม่ค่อยตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไป เข้าใจว่า ไม่เคยมีคนมาดีแคร์กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ยกเว้นนักธุรกิจที่ต้องดีแคร์เพราะสินค้าที่นำติดตัวมีจำนวนมาก หลายชิ้นและมีราคาแพง”
ส่วนผลการดำเนินงานด้านจับกุมผู้กระทำความผิด โดยนำสินค้าเข้ามาในประเทศมีมูลค่ามากกว่า 20,000 บาท มียอดการจับกุมทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 คน ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาและกระเป๋าหรูราคาแพง ล่าสุดสัปดาห์นี้ ได้จับกระเป๋าหรูและสินค้าอื่นๆ ไม่เสียภาษีรวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กรมศุลกากรด่านสนามบินสุวรรณภูมิได้นำสินค้าที่ถูกยึดเป็นของหลวงออกมาประมูล 2 ครั้ง ได้เงินประมาณ 40 ล้านบาท ดังนั้น ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตามปกติไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ยกเว้นพวกนักขนสินค้าพรีออเดอร์ และพนักงานสายการบิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กรมศุลกากรตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว.