ครม.ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์
ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ ปรับปรุงคำนิยามเพื่อรองรับฟินเทค-แก้ทุนจดทะเบียน รองรับสตาร์ทอัพ ด้าน ก.ล.ต.ยันกฎหมายฉบับไม่เกี่ยวกับเงินดิจิทัล
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมีสาระสำคัญในการปรับปรุงนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์, การกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์, การกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่รัฐมนตรีกำหนดเพิ่มเติม, การเพิ่มอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ปรับปรุงช่องทางและวิธีการใช้สิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน, ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. รวมทั้งการกำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาตลาดทุน และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นายณัฐพร กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นี้ มีการปรับปรุงแก้ไขจากเดิมใน 7 เรื่องหลักที่สำคัญ ดังนี้
1.การปรับปรุงนิยามของการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ เช่น กรณีการกำหนดบทนิยามนี้ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นและครอบคลุมมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ Fintech หรือบางบริษัทอาจเข้ามาร่วมใน Regulatory Sandbox ได้ ขณะที่การจดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำได้มอบอำนาจให้ ก.ล.ต. ซึ่งเดิมเคยกำหนดไว้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันมีธุรกิจ Startup เข้ามา จึงต้องการอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม
2.การให้ ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาบางบริษัทมีกรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทะเลาะกัน และไม่ยอมจัดประชุมผู้ถือหุ้น จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบริษัทได้
3.การกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม มีหน้าที่จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
4.การปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
5.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน เช่น ให้อำนาจ ก.ล.ต.เปิดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนทุกประเภทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศได้ รวมทั้งกำหนดให้ ก.ล.ต.สามารถอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ปรับปรุงคุณภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสามารถประกาศให้บุคคลอื่นที่มิใช่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ นำหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับของ ก.ล.ต.มาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้
6.การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หรือ กองทุน CMDF โดยให้แยกกองทุนนี้ออกมาเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อมีบทบาทในการพัฒนาตลาดทุนโดยเฉพาะ
7.การเพิ่มประสิทธิภาพความชัดเจนและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ ก.ล.ต.เอง โดยกำหนดให้ ก.ล.ต.ต้องเสนอแผนพัฒนาตลาดทุนให้แก่กระทรวงการคลังทุกปี ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเสนอแผนพัฒนาตลาดเงินให้กระทรวงการคลังรับทราบทุกปี
ด้านนายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัลและการระดมทุน ICO ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดประชุมสรุปร่วมกันวันที่ 8 มี.ค.นี้ ประกอบ ด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก.ล.ต. คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อดูแลสกุลเงินดิจิทัล
นายศักรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เปิดทางให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ทุกประเภทในตลาดหลักทรัพย์ได้ เพื่อส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์เลือกรูปแบบการสร้างพันธมิตรและเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงให้บอดร์ด ก.ล.ต.ใช้ดุลพินิจกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์โดยไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ จากปัจจุบันกำหนดทุนขั้น 100 ล้าบาท เพื่อรองรับธุรกิจฟินเทค สตาร์ทอัพ ซึ่งบริการทางการเงินแบบใหม่ ทั้งที่ปรึกษาซื้อขายหุ้นผ่านแอพพลิเคชั่น ส่วนการตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป็นนิติบุคคลอิสระจากตลาดหลักทรัพย์ ด้วยทุนประเดิม 5,700 ล้านบาท จากนั้นนำกำไรสุทธิจากตลาดหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 นำส่งเข้ากองทุนทุกปี โดยมีคณะกรรมการกองทุน เช่น กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ธปท. เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินกับหน่วยงานต่าง ๆ ยื่นขอในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน.