คลังโชว์เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.สดใส
คลังมั่นใจ เศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 2.8 หมื่นล้านล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ2561 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมออกมาดีเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะการส่งออก
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60–ม.ค.61) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 738,345 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอก สารงบประมาณ 28,381 ล้านบาท หรือ 4.0% โดยมีสาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 12,994 ล้านบาท การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณ 12,747 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 1,251 ล้านบาท
“การจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับ สนุนจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น”
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ม.ค.2561 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนม.ค. ขยายตัว 17.6% ต่อปี มีมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรกรรมและเคมี ภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 ญี่ปุ่น อาเซียน-5 อินเดีย อินโดจีน จีน และสหรัฐฯ เป็นสำ คัญ คาดทั้งปีส่งออกขยายตัว 6.6% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า การส่งออกปีนี้ จะขยายตัวได้ 8%
ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือนม.ค. ขยายต่อ เนื่อง 6.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ดีจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือนม.ค.2561 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 และขยายตัวสูงถึง 27.3% โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถ ยนต์ต่าง ๆ ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เดือนม.ค. ขยายตัว 3.5% โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุง เทพฯ และในเขตภูมิภาค สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนม.ค. อยู่ที่ระดับ 67.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2558 เป็นต้นมา
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เดือนม.ค. ขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.2% ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน เป็นสำคัญ ขณะที่การลง ทุนหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนม.ค.2561 ขยายตัวที่ 1.1% ต่อปี
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวระดับสูงในเดือนม.ค. ขยายตัว 10.9% โดยนัก ท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ลาว อินเดีย และยุโรปตะวันออก เป็นหลัก ส่งผลให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 189,000 ล้านบาท สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 13% เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 91.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภายในประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 และการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีและเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค. อยู่ที่ 0.7% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสิ้นเดือนธ.ค. อยู่ที่ 41.2% ต่อจีดีพี ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือนม.ค. อยู่ที่ระดับ 214,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า.