“อาคม”บี้กรมศุลฯใช้”NSW”
รมว.คลัง มอบนโยบายให้กรมศุลกากร 3 ด้าน ประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกผู้ส่งออกและนำเข้า การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมการทำงาน และลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่
การเปิดเสรีการค้า ทำให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีลดลง ซึ่งถือเป็นปกติ เพราะทุกวันนี้ เรา (ประเทศไทย) ได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับหลายๆ ประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าว หลังตรวจเยี่ยมกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา
แต่การจัดเก็บภาษีที่ลดลง ก็ต้องอยู่ภายใต้นโยบายที่ผมให้ไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกและนำเข้า 2.การนำเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ มาประ ยุกต์ใช้ เช่น NSW หรือ National Single Window ซึ่งเป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ปัจจุบันเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว 37 หน่วยงาน แต่ยังมีปัญหาไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เพราะบางหน่วยงานไม่ได้มีการอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัย และ3.ลดการทุจริตและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
“ข้อตกลงทางการค้า ทำให้เราต้องลดภาษีลงมาเหลือ 0% แต่ก็ไม่ทุกรายการ ดังนั้น โอกาสที่กรมศุลฯ ยังจัดเก็บภาษีได้ ยังทำได้อยู่ แต่ในอนาคตจะลดลงเหลือเท่าไหร่ ยังไม่ได้หารือกัน” รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า
“ต้องการเห็นกรมศุลกากรพัฒนาโครงการ NSW ให้สามารถใช้ได้จริงๆ ภายในปี2564 และปี2565 จะเปิดใช้กับทุกๆ ประเทศของอาเซียน ซึ่งขณะนี้ ความร่วมมือในระดับอาเซียนก็มีความคืบหน้าอย่างช้าๆ”
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขณะนี้ โครงการ NSW มีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่ก็ยอมรับว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยกัน ยังได้ไม่อัพเดทตลอดเวลา เพราะในรายการสินค้า หรือสิ่งของที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน อาจจะมี 20-40 รายการ หากไม่อัพเดทข้อมูลก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นมาทันที
ส่วนเรื่องการนำอุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และผู้ส่งออกนั้น ล่าสุด ผลการทดสอบเครื่องเอ็กซเรย์คร่อมสายพาน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผ่านเรียบร้อยแล้ว แต่การใช้บริการมีน้อยมาก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ2564 กรมศุลกากรได้รับมอบหมาย 1.04 แสนล้านบาท (104,000 ล้านบาท) นั้น คงจะขอให้กระทรวงการคลังปรับลดเป้าหมายลงมาอย่างแน่นอน แต่จะปรับลดลงจำนวนเท่าใด ยังไม่สามารถประเมินได้
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรไทย ได้ร่วมมือกับศุลกากรสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พัฒนา ASEAN Single Window หรือ ASW ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งก็คือ NSW สู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นเพียงการทดสอบระบบ ยังไม่ได้เชื่อมโยงทุกรายการเหมือนกับ NSW ในไทย ซึ่งขณะนี้ มี 7 ประเทศในอาเซียนที่ลงนามให้ความร่วมแล้ว ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม
โดยโครงการนี้ เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลใบขนสินค้าขาออกระหว่างศุลกากรอาเซียน ทําให้ศุลกากรอาเซียนทราบข้อมูลการนําเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงศุลกากรประเทศนําเข้า เป็นต้น.