คลังเล็งกู้นอก เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย
“อาคม” ขานรับองค์กรระดับโลก ตั้งเป้า “กู้เสริมแกร่ง” เศรษฐกิจและเทคโนโลยี หนุนการแข่งขันของชาติ เน้น 4 หลักการสำคัญให้ สบน.เร่งศึกษากู้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ย้ำ! ยังไม่มีแผนกู้เพิ่ม แม้เพดานหนี้ต่อจีดีพียังต่ำ คาดจีดีพี 5 ปีข้างหน้าโตเฉลี่ย 3-5% ตามปี’64 ที่คงไม่ต่ำกว่า 4%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 พ.ย.2563 ว่า ได้ให้ สบน.ศึกษาแนวทางการกู้เงินจากต่างประเทศ เน้นกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการเงินในและนอกประเทศไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลที่มีทางเลือกมากกว่า ทั้งนี้ การกู้เงินจากต่างประเทศไม่เพียงเป็นการกระจายแหล่งเงินกู้ หากยังลดปริมาณความต้องการกู้เงินในประเทศ และจะไม่เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยเงินกับให้กับภาคเอกชนที่มีความต้องการเงินกู้สูงมากหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยมีหลักการกู้เงินเพื่อภารกิจสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ กู้เพื่อใช้ในโครงการที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง, โครงการที่สนับสนุนการแข่งขันของประเทศ โครงการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโครงการลงทุนเชิงสังคม ด้านสุขภาพอนามัย ต่อยอดจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต ซึ่งทั้งหมดจะสนับสนุนความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ หลังจากได้ลงนามกู้เงินจาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) วงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 แล้ว รัฐบาลยังไม่มีแผนการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มเติม ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของรัฐบาล แม้จะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่สัดส่วนหนี้ฯปัจจุบัน ยังมีเพียง 49.34% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง (ไม่เกิน 60%) ส่วนตัวเชื่อว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย จะไม่เกินเพดานที่กำหนดอย่างแน่นอน
“องค์กรระดับโลกไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลกหรือไอเอ็มเอฟ ยังเห็นว่ารัฐบาลไทยลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีน้อย จำเป็นที่เราจะต้องเร่งลงทุนด้านนี้ให้มาก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะ ด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล รวมถึงด้านระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” รมว.คลัง ระบุและว่า
รัฐบาลคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ว่าจะขยายตัวราว 4% และในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะขยายตัว 3-5% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เร็วกว่าที่คาดคือ การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศได้ด้วย ด้วยเหตุที่การท่องเที่ยมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 12% นั่นเอง.