ส่อตั้งโรงไฟฟ้าเขมรขายไทย
รัฐไทยสนใจแผนผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังถูกแรงต้านหนัก ส่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าราคาสุดถูกจากกัมพูชาที่พร้อมกดปุ่มเดินเครื่องตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินแสนล้าน ด้านผู้บริหารเกาะกง ยูนิลิตี้ เผยพร้อมขายระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันพลังงานให้ไทย แถมเปิดช่องให้ฝ่ายไทยถือหุ้นตามต้องการ
นายบรรพต แสงเขียว รองประธาน บริษัท เกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด กล่าวถึงผลต่อเนื่องจากการเสวนา “ผ่าทางตัน : โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เมื่อ 7 ก.พ.61 ซึ่งทุกฝ่ายสรุปตรงกันว่า “ไม่มีทางออก” เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ต้องการชะลอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปอีก 3 ปี เพื่อทำการศึกษาอย่างรอบด้าน ขณะที่อีก 2 วันต่อมา นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ก็แถลงข่าวยืนยันแน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ออกไปอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากยึดข้อมูลที่ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ออกมาระบุถึงแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่มีเพิ่มปีละ 5% จากปัจจุบันมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปีละ 2,500 เมกะวัตต์ ขณะที่มีกำลังผลิตจริง ทั้งจากโรงไฟฟ้าเทพา โรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอื่นๆ รวมกันเพียง 2,164 เมกะวัตต์ เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ ภาคใต้จำเป็นต้องการพึ่งพิงไฟฟ้าจากภาคกลาง ถึงปีละกว่า 300 เมกะวัตต์ และในอนาคตจะเพิ่มปริมาณเรื่อยๆ รวมกันไม่น้อย 800-1,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน
นายบรรพต ย้ำว่า หลังจากที่ตนได้เสนอในวงเสวนาวันนั้น ถึงแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากรัฐบาลกัมพูชา เพื่อจัดส่งไฟฟ้าผ่านระบบ “กระแสตรง” ระยะทางกว่า 1,200 กม. จากเกาะกง กัมพูชา จนถึง จ.ชุมพรของไทย ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นระบบ “กระแสสลับ” เพื่อนำส่ง ผ่านระบบสายไฟฟ้าเครือข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) จึงน่าจะเป็นทางออกให้กับการผ่านทางตันของปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ของไทยได้
ล่าสุด แนวคิดดังกล่าวได้รับความสนใจจากรัฐบาลไทยแล้ว ทั้งนี้ หลังจากเกิดกระแสข่าวดังกล่าว ตนได้พบกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทย พร้อมกับชี้แจงถึงหลักการและเหตุผล จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้ากับไทยครั้งนี้ ราคาต้องเหมาะสมและไม่แพงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน โดยขอย้ำว่า นอกจากไม่แพงกว่าแล้วยังจะถูกกว่าด้วยซ้ำ โดยเบื้องต้นกำหนดราคาขายอยู่ที่หน่วยละ 2.67 บาท (ราคาปัจจุบัน 2.85 – 3.25 บาทต่อหน่วย) และสามารถทำสัญญาซื้อขายในระยะยาว 20- 30 ปี ตามแต่ฝ่ายไทยจะเห็นควรว่าจะซื้อกี่เมกะวัตต์และในระยะเวลานานเท่าใด ส่วนการปรับเพิ่มราคาขาย หากจะมีบ้างก็ไม่สูงนัก ขึ้นอยู่กับราคาถ่านหินในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราคาดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าการที่ กฟผ.ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเองอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ หากทางฝ่ายไทยสนใจจะเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากฝ่ายจีน ตนก็พร้อมจะเปิดทางให้เข้าร่วมถือหุ้นตามที่ต้องการ ในสัดส่วนที่ไม่เกินกว่ากลุ่มทุนผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ถือครอง อย่างไรก็ตาม จากนี้เมื่อมีความชัดเจนจากฝ่ายไทย ทางกลุ่มทุนของตนก็พร้อมเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี และพร้อมจัดส่งไฟฟ้าราคาถูกให้กับฝ่ายไทย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทันทีเช่นกัน.