กรมสรรพากรจ่อดึงคน/นิติบุคคลเข้าสู่ระบบภาษีเพียบ!

สรรพากรเด้งรับนโยบาย “ขุนคลัง” ตั้งเป้าดึง “บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล” เข้าสู่ระบบภาษี “5 แสนคน + 1.5 แสนนิติบุคคล” ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม พุ่งเกินคาด! หลังรัฐเทเงิน พ่วงลดและยืดจ่ายภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันจัดเก็บภาษีปี’63 “ปิดหีบ” เข้าตามเป้าใหม่ แถมบวกเกินเกือบหมื่นล้านบาท ขณะที่ ปี’64 มั่นใจเป้าเดิมที่ 2.0853 ล้านล้านบาท พุ่งจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมากหน่อยที่ 40%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการดำเนินงานภายหลังได้รับมอบนโยบายจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง โดยเฉพาะ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและขยายฐานภาษี รวมถึงการปรับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ ว่า บางส่วนกรมฯได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดเก็บ สร้างช่องทางการชำระและคืนภาษีที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย
รวมถึง ประเมินพฤติกรรมการเสียภาษีของกลุ่มคนและธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งบางส่วนเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในระบบภาษี เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ แต่ก็มีบางส่วนที่จงใจจะไม่เข้าสู่ระบบภาษี และคงต้องนำเข้าสู่ระบบภาษีต่อไป
“จากนี้คงต้องเร่งจัดทำผังภาษีใหม่ เพื่อขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบภาษี โดยให้ความรู้ถึงหน้าที่ที่ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษี ก่อนหน้านี้ เรามีฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาราว 9.55 ล้านคน แต่หลังจากนำเทคโนโลยีทางด้านดาต้ามาช่วยคัดกรองผู้เสียภาษีที่ซ้ำซ้อนกัน จนสามารถตัดออกไปได้ราว 2.5 แสนคน ทำให้ตัวเลขจริงของผู้เสียราว 9.3 ล้านคน แต่ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีจริงแค่ 3.3 ล้านคน ที่เหลืออีก 6 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษี” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม 6 ล้านคนนี้ มีเป็นจำนวนมากที่มีรายได้ถึงเกณฑ์และอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำการค้าออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำ 25,000 บาท/เดือน เบื้องต้นคาดว่าจะถึงคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบภาษีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ซึ่งจะทำให้ฐานผู้มีรายได้ที่จะต้องเสียภาษีในปี 2564 มีเกือบ 4 ล้านคน
สำหรับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นอีกรายได้สำคัญนั้น ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ยื่นแสดงแบบรายการ ภงด.50 และ 51 ประมาณ 4.5 แสนนิติบุคคล แต่จากฐานตัวเลขของนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มีเกือบ 6 แสนนิติบุคคล ตรงนี้ พอเข้าใจได้ว่ามีนิติบุคคลที่ปิดหรือหยุดกิจการ แต่ก็มีบางส่วนที่เปิดดำเนินการใหม่ ซึ่งกรมฯจะนำระบบเทคโนโลยีเข้าไปร่วมตรวจสอบ เพื่อนำนิติบุคคลราว 1.5 แสนนิติบุคคลเข้าสู่ระบบภาษีต่อไป
ส่วน ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ที่ผ่านมา แม้กรมฯจะสูญเสียรายได้ไปจากมาตรการ/โครงการอันเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จากการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ทั้งที่มาจากมาตรการ/โครงการของรัฐบาล รวมถึงการใช้จ่ายของภาคเอกชและประชาชน ทำให้กรมฯสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ว่า สามารถปิดหีบได้ตามประมาณการตัวเลขใหม่ที่ได้รับจากกระทรวงการคลัง โดยจัดเก็บได้ 1.833 ล้านล้านบาท เกินเป้าถึง 9,017 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ยังเป็นไปตามคาดการณ์ โดยจัดเก็บได้ราว 1.07 แสนล้านบาท เกินเป้าราว 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าในปีนี้ กรมฯจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ได้รับมอบหมายคือ 2.0853 ล้านล้านบาท โดยมีรายได้หลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด.