ครม.คลอดมาตรการอุ้มคนจนเฟส2
มาตรการช่วยเหลือคนจนเฟส 2 ผ่าน ครม.ฉลุย รัฐบาลจ่ายเงินผ่านบัตรจนเพิ่ม รายได้ไม่ถึง 30,000 บาท รับไปแล้ว 300 บาทต่อเดือนได้เพิ่มอีก 200 บาทรวมเป็น 500 บาท รายได้เกิน 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทรับไปแล้ว 200 บาท ได้เพิ่มอีก 100 บาท รวม 300 บาทต่อเดือน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ) ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.หลักการ
1.การวิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล (Personalized Plan) โดยจัดให้มีผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) เพื่อทำหน้าที่สำรวจสภาพข้อเท็จจริง สอบถามความประสงค์ และให้คำแนะ นำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประ สิทธิผล และมีความยั่งยืน
2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามความจำเป็นอย่างรอบด้าน (4 มิติ) เพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงมุ่งเน้นการสร้างโอกาสอย่างรอบด้านใน 4 มิติ ได้แก่1.การมีงานทำ 2.การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และ4.การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน
3.การเข้าหาและติดตามผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ “ทุกคน” ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และอยู่ในวัยแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการกลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมการพัฒนาตนเองได้โดยสมัครใจ
4.การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการในทุกมิติรวมกว่า 34 โครงการ จากความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย 6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุนและ 2 หน่วยงาน
2.การดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ จึงกำหนดโครงสร้างการดำเนินงาน ดังนี้ 1.คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล
3.คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) ทำหน้าที่ แต่งตั้ง กำกับดูแล และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และการลงพื้นที่ของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐประจำอำเภอ และมอบหมายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล
4.คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือ“ทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.)” ประกอบด้วยคณะทำงานระดับอำเภอ และผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เหมาะสมและสอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบุคคลโดยการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา สอบถามความประสงค์ เช่น การทำงาน การฝึกอบรมอาชีพ เป็นต้น โดย AO ต้องรับผิดชอบดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการวิเคราะห์ และติดตามเพื่อให้ทราบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายนั้น มีการพัฒนาอย่างไรหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่เพียงใด
3.โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต
โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เป็นการบูรณาการโครงการจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น โดยมีโครงการเพื่อรองรับจำแนกตามมิติต่าง ๆ ดังนี้
1.มิติที่ 1 การมีงานทำ เช่น การจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
2.มิติที่ 2 การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา เช่น โครงการฝึกอาชีพเร่งด่วนอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) โดยกระทรวงแรง งาน โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โครงการมหาวิทยาลัยประชาชนโดยธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น
3.มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food โดย ธ.ออมสิน เป็นต้น
4. มิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น โครงการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์และกระทรวงการคลัง การออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับแรงงานนอกระบบโดยกองทุนการออมแห่งชาติ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวข้างต้นสามารถให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐได้อย่างน้อย 4,695,407 คน นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ สามารถเสนอโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เพิ่มเติมได้ และโครงการต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นในการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของ คอต.
4. มาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ตามแนวทางประชารัฐสวัสดิการเพิ่มเติม
โดยจะเริ่มได้รับในเดือนถัดไปหลังจากเดือนที่แสดงความประสงค์ จนถึงเดือนธันวาคม 2561 ดังนี้ 1.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 200 บาท/คน/เดือน 2.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 100 บาท/คน/เดือน
5. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.