กรอ.จับมือเครือข่ายคุมการใช้สาร HCFCs
กรอ. จับมือภาคี 6 เครือข่ายขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซน มุ่งควบคุมปริมาณการใช้ สาร HCFCs ให้เท่ากับศูนย์ในปี พ.ศ. 2583
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรอ.ได้ร่วมกับธนาคารโลก จัดทำโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ของประเทศไทย ให้เท่ากับศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2583 โดยระยะที่ 1 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 23,052,037 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 – 2561
โดยเน้นให้ความช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตโฟมและเครื่องปรับอากาศ ในการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนใหม่ที่ไม่ทำลาย ชั้นบรรยากาศโอโซนและมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ
ปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ และสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFCs ได้ร้อยละ 61.9 สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดที่ร้อยละ 15 สำหรับปี พ.ศ. 2561 โดยมีการนำเข้าเพียง 353.16 โอดีพีตัน เทียบกับปริมาณโควตาการนำเข้าซึ่งกำหนดไว้ที่ 788 โอดีพีตัน
สำหรับการดำเนินงานต่อไป กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารโลกและภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมศุลกากร ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และภาคเอกชน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ระยะที่ 2
ซึ่งประเทศไทยได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 5,083,929 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2566 ซึ่งเป็นมาตรการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam)
รวมถึงภาคอุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น และตู้แช่เชิงพาณิชย์ ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน นอกจากนี้ โครงการฯ จะมีการเสริมสร้างศักยภาพ ด้านการตรวจวิเคราะห์ชนิดสารทำความเย็นให้แก่กรมศุลกากร รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น ในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
โดยมีเป้าหมายในการจัดอบรมให้แก่ช่างซ่อมบำรุง จำนวน 5,500 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า โครงการฯ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการและยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จะเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป