ยสท.รุกคลัง! ดันวิจัย “กัญชง-กัญชา” เชิงพาณิชย์
ยสท.เปิดเกมรุก! สร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ เดินหน้าวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ ผุดผลิตภัณฑ์ “กัญชง-กัญชา” วอน สคร. ไฟเขียว ทำ MOU กับเอกชน เปิดให้เช่าดินในทำเลใจกลางเมืองใหญ่ ออกไฟต์ติ้งแบรนด์ บุหรี่ราคาไม่เกิน 40/ซอง พร้อมชง “ขุนคลัง” ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่รอบใหม่ พ่วงตั้งเป้ากำไรปี 64 สูงสุด 1.2 พันล้านบาท
ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จากนี้…ถือว่าไม่ธรรมดาและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
ความเป็น “ซูเปอร์คอนเน็กชั่น” ที่เชื่อมโยงไปยัง “องค์กรภายนอก” เชิงลึก! ของ ผู้ว่าการ ยสท. ที่ชื่อ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร จะถูกผสมผสานความเป็น “ทีมเวิร์ก” ภายในองค์กร ตั้งแต่ทีมที่ปรึกษาฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ
เป้าหมายเพื่อนำพา ยสท.ก้าวสู่จุดแห่งความเหมาะ ทั้งในแง่ความเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดี, มีการสร้างโอกาสและรายได้ใหม่ๆ นำส่งเป็นรายได้เป็นแผ่นดิน
หลายเรื่องที่มีเพียง ยสท.เท่านั้น…ที่ทำได้ หนึ่งในนั้น ผู้ว่าการ ยสท. ระบุว่า คือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและกัญชา ซึ่งที่ผ่านมา ยสท.ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขออนุมัติการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนาฯในเชิงพาณิชย์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ ยสท.ได้ทำ MOU ความร่วมมือเชิงวิชาการกับ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ และ ม.เชียงใหม่ เพื่อร่วมพัฒนาพืชยาสูบ กัญชง กัญชา และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการวิจัย การผลิตบัณฑิต การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักวิจัย รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปสู่เกษตรกรในสังกัด ยสท.
“การเพาะปลูกกัญชง-กัญชาจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ ยสท.ไม่ต่ำกว่า 250,000-500,000 บาทต่อไร แต่การเพาะปลูกอาจต้องติดบาร์โค้ด เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มา และการนำทุกส่วนของต้นกัญชง-กัญชาไปใช้ประโยชน์ ช่วงไหน? เพื่อการใด? ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข”
นอกจากนี้ ยสท.มีแผนจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนแก้ไขโครงสร้างภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขันและความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่ ยสท.เอง ก็มีรายได้ลดลง จากยอดจำหน่ายที่ลดลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะมีบุหรี่ต่างประเทศลดราคาจำหน่ายปลีก เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ถูกลง
ทั้งนี้ อัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในปัจจุบันที่รัฐจัดเก็บ มีเพียงระดับเดียว คือ 60% กับทุกระดับราคา อาจกลับไปสู่การจัดเก็บภาษีฯ 2 ระดับ เหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ ได้แก่ 20% สำหรับราคาขายไม่เกิน 60 บาท และ 40% สำหรับราคาขายที่เกิน 60 บาท และเก็บภาษีเฉพาะอีก 1.20 บาทต่อมวนกับบุหรี่ทุกราคา โดยแนวทางใหม่ แม้จะเป็น 2 ระดับ แต่อาจจะมีจุดแตกต่างที่ทำให้ ยสท.สามารถแข่งขันได้
“ไม่ว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะออกมาในรูปแบบไหน ยสท.อาจพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในลักษณะ “ไฟต์ติ้ง แบรนด์” กำหนดราคาไม่เกิน 40 บาท เพื่อออกมาสู้กับตลาด ส่วนข้อเสนอของ รมว.คลังในการสร้างบุหรี่ระดับพรีเมี่ยมนั้น คงต้องศึกษาให้รอบคอบ เนื่องจาก ยสท.ยังขาดความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้” นายภาณุพล ย้ำและว่า อีก 2 สัปดาห์จากนี้ ตนจะเข้าพบ รมว.คลังและรมช.คลัง เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน และคงได้มีโอกาสหารือถึงเรื่องกัญชงกัญชา และโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาบุหรี่ จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ตามนี้ คือ จำนวนสูบบุหรี่ต้องไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีราว 10.7 ล้านคน, รัฐบาลต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดิม, เกษตรกรชาวไร่ใบยาสูบต้องขายใบยาได้ไม่น้อยกว่าเดิม, ยอดขายและส่วนการตลาดของ ยสท.ต้องไม่น้อยกว่าเดิม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยสท.ยังจะเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามบุหรี่เถื่อน หลังพบว่ามีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายหลังมีการปรับเพิ่มภาษีฯ และเป็นเหตุให้มีการซื้อบุหรี่เถื่อนมาบริโภค รวมถึงการนำที่ดินในความครอบครองมาพัฒนาหรือทำโครงการที่ก่อประโยชน์และสร้างรายได้
เช่น ให้เช่าเพื่อการก่อสร้างโรงแรม ตลาด สปอร์ตคอมเพล็กซ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยจะเปิดให้มีการประมูลเช่าที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใจกลางเมืองหรือในทำเลที่ดี เช่น ที่ดินใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ หนองคาย ฯลฯ รวมถึงที่ดินในเขตพื้นที่ 77 ย่านคลองเตย กทม.
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ยสท.มีกำไรกว่า 900 ล้านบาท แต่เมื่อหักสำรองเงินนำส่งเข้ารัฐ, เงินบริจาค รวมกันกว่า 400 ล้านบาท ทำให้เหลือกำไรในปี 2563 ราว 593 ล้านบาท คาดว่าในปี 2564 จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 950-1,200 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะ ยสท.ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การทำงานล่วงเวลา, การจ้างเอาท์ซอสจากภายนอก เป็นต้น.