ครม.ไฟเขียว7 โครงการแก้ปัญหาราคายาง
ครม.ทุ่มหมดหน้าตักเทงบประมาณและอัดฉีดสินเชื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางวงเงินเบื้องต้น 1,200 ล้านบาท และมาตรการลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ 2 แสนตัน เพิ่มรายได้เกษตรกรภาคใต้
“ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในการดำเนินการ 7 โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ” นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2560 และกล่าวว่า
สำหรับโครงการที่ ครม.เห็นชอบประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อผู้ประกอบการยางตามมติ ครม.วันที่ 26 พ.ค.59 เพื่อขยายกำลังการผลิต หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นปลายน้ำ ซึ่ง ครม.เคยอนุมัติวงเงินสินเชื่อเอาไว้แล้ว 15,000 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาให้รับสมัครถึงเดือนก.ย.2559 ซึ่งขณะนี้โครงการเหลือวงเงินอยู่ประมาณ 6,112 ล้านบาท จึงเห็นควรขยายเวลารับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนมิ.ย.2561 โดยให้ดำเนินการตามเงื่อนไขเดิมตามมติ ครม.เดิม ”
2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแปรรูปยางพาราให้กับสถาบันเกษตรกร ตามมติ ครม.วันที่ 26 ส.ค.2557 และ 21 ก.ค.2558 ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี รัฐช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ช่วยสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร 0.49% ต่อปี แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.สหกรณ์กำหนดให้กอง ทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถช่วยสถานบันเกษตรกรได้เฉพาะในส่วนที่เป็นสถาบันประเภทสหกรณ์เท่านั้น ดังนั้นในส่วนของกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ไม่สามารถรับเงินอุดหนุนดอกเบี้ยจากกองทุนนี้ได้ ดังนั้น วันนี้จึงมีมติให้รัฐช่วยสนับ สนุนอัตราดอกเบี้ยให้กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนในอัตรา 0.49% แทนกองทุนพัฒนาสหกรณ์
ส่วนอีก 5 โครงการ วันนี้ (19 ธ.ค.) ครม.อนุมัติในหลักการและให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปหารือกับสำนักงบ ประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียด ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา 10,000 ล้านบาท ตามมติ ครม.วันที่ 13 มิ.ย.60 มีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเบี้ยประกันในอัตรา 0.36% ต่อปี หรือ 36 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 108 ล้านบาท ซึ่งเดิม ครม.ให้ใช้เงินจากกองทุนพัฒนายาง พารา ซึ่ง กยท.เห็นว่า ตามกฎหมาย กยท.ไม่สามารถดำเนินการได้ ทาง กนย.จึงเห็นควรเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณสนับสนุนค่าเบี้ยประกันแทน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเติมในส่วนของค่าบริหารโครงการ ในอัตรา 0.14% ต่อปี
โครงการต่อมา คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง หรือยางแห้ง วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อดูดซับยาง 350,000 ตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนม.ค.2561-ธ.ค.2562 โดยรัฐบาลชด เชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี โครงการส่งเสริมการใช้ยางของภาครัฐ โดยที่ กยท.ได้สำรวจความต้องการใช้ยางพาราคาของ 7 กระทรวง เป้าหมาย 200,000 ตัน และจะใช้งบประมาณรับซื้อยางใหม่จากเกษตรกร 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการขอใช้งบกลาง โครงการควบคุมปริมาณผลผลิต โดยจะลดพื้นที่ปลูกยางถาวร 200,000 ไร่ และลดพื้นที่การปลูกยางแบบชั่วคราวอีก 200,000 ไร่ รวมเป็น 400,000 ไร่ โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา นอกจากนี้จะลดปริมาณผลผลิตของภาครัฐที่มีสวนยาง 121,000 ไร่ ทั้งในส่วนของกรมวิชาการเกษตร กยท. และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ใช้งบกลาง 303 ล้านบาท
และโครงการสุดท้ายคือจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราระหว่าง กยท. กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 บริษัท โดยมีเงินตั้งต้น 1,200 ล้านบาท ซึ่งมอบหมายให้ กยท.หารือกับทุกภาคส่วนให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะไปตั้งกองทุนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตามมติคณะกรรม การนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปล์มดิบมีจำนวนมากกว่า 500,000 ตัน ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 200,000 ตัน โดยลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 200,000 ตัน ภายในเดือนธ.ค.2560 โดยให้ผู้ส่งออก โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 100,000 ตัน และให้กระทรวงพลังงาน ประสานผู้ค้าน้ำมันเพื่อซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อลดสต็อก จำนวน 100,000 ตัน นอกเหนือจากที่ให้ผู้ค้าน้ำมัน สำรองไว้เดิม
และยังสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกการส่งออก เช่น การขนส่งน้ำมันปาล์มและเรือในการส่งออก ในส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) หารือร่วมกับเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีขึ้น โดยเน้นการผลิตปาล์มคุณภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.หารือการแก้ปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งในส่วนของยางพารานั้น เร่งการนำยางไปผลิตและใช้ประโยชน์ โดยจำเป็นต้องแก้กฎหมายบางตัว โดยเฉพาะเรื่องการนำยางใหม่ของเกษตรกร ไปผลิต และนำไปใช้ในโครงการของภาครัฐ โดยจะต้องดำเนินการโดยเร็วก็จะทำให้ราคายางอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และเกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอไปในระยะหนึ่ง
ส่วนปัญหาปาล์มน้ำมัน มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปหามาตรการช่วยเหลือชาวสวน โดยจะเร่งระบายสต็อกปาล์มน้ำมัน และนำไปเพิ่มและเป็นส่วนประกอบในการทำไบโอดีเซลมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะดึงราคาปาล์มสูงขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาเกษตรกร ก็ต้องค่อยเป็นค่อไป และเข้าใจถึงความเดือดร้อนประชาชน.